วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อุบายแก้กลโกง นิทานชาดก

คนที่คดโกงผู้อื่น ผู้อื่นก็จะโกงตอบ ผู้มีไหวพริบปฏิภาณ ย่อมสามารถแก้กลโกงของผู้อื่นได้อย่างแยบยน นิทานเรื่องนี้มาใน "กูฏวาณิชชาดก ทุกนิบาต"

กาลครั้งหนึ่ง มีพ่อค้า 2 คน เป็นเพื่อนรักกัน คนหนึ่งอยู่ในเมือง อีกคนหนึ่งอยู่บ้านนอก ทั้งสองต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและทำมาค้าขายร่วมกันอย่างราบรื่นเสมอมา

อยู่มาวันหนึ่งพ่อค้าบ้านนอกได้นำผาลไถจำนวน 500 เล่มเข้าไปฝากเพื่อนผู้เป็นพ่อค้าในเมืองให้ช่วยขาย



"เพื่อนรัก ฝากขายหน่อยนะ" ขายหมดเมื่อไรเราค่อยมาแบ่งกัน พ่อค้าชาวเมืองก็รับฝากขายให้

พ่อค้าในเมืองขายผาลไถหมดแล้ว ก็เกิดความโลภ จึงหาอุบายวิธีที่จะโกงพ่อค้าบ้านนอก อีกหลายวันต่อมาพ่อค้าบ้านนอกก็เข้ามาในเมือง

"สวัสดีเพื่อน ขายดีไหม เราเอาเงินมาแบ่งกันดีกว่า" พ่อค้าบ้านนอกทัก

"แย่ละเพื่อน ... หนูกัดผาลไถหมดเลย" พ่อค้าในเมืองกล่าวและชี้ให้ดูกองขี้หนูที่ตนเองได้นำมากองไว้ พลางกล่าวขอโทษอย่างจริงใจ

"นั่นแหละ คือสิ่งที่มันทิ้งไว้ ขอโทษจริงๆ เพื่อน ข้าสะเพร่าเอง"

พ่อค้าบ้านนอกรู้ว่าเป็นกลโกงของเพื่อน จึงพูดแบบไม่ใส่ใจว่า

"ช่างมันเถอะ มันกินหมดแล้วก็ช่างมัน ข้าอยากอาบน้ำหน่อยว่ะ "

"เอาเลยตามสบาย" พ่อค้าในเมืองบอกพลางนึกกระหยิ่มใจ ที่อุบายของตนใช้ได้ผลกับเพื่อนรักร่วมค้าขาย

พ่อค้าบ้านนอก ได้ชวนลูกชายของพ่อค้าขี้โกงไปยังท่าน้ำ และได้นำเด็กไปไว้ที่บ้่านเพื่อนอีกหลังหนึ่ง แล้วก็กลับมาที่บ้านพ่อค้าขี้โกงคนเดียว ด้วยความกระหืดกระหอบ

"อ้าว! แล้วลูกชายข้ามันไปไหนเสียละ" พ่อค้าในเมืองถามทันที

"เพื่อนรัก ตอนข้าอาบน้ำอยู่ เหยี่ยวดำตัวใหญ่ได้โอบเอาลูกชายเพื่อนที่ยืนอยู่บนฝั่งไป ข้าปรบมือไล่มัน มันก็ไม่ปล่อย กลับบินหนีไป"

"เจ้า ... เจ้าฆ่าลูกชายข้า ข้าจะเอาเจ้าเข้าคุก" พ่อค้าในเมืองแผดเสียงด้วยความโกรธและเสียใจ

แล้วพ่อค้าทั้งคู่ก็ไปศาลให้ตุลาการตัดสิน พอตุลาการได้ฟังโจทก์และจำเลยกล่าวหากันก็คิดว่า

"อืม ! แก้ลำได้ดี คนหนึ่งคิดอุบายโกง อีกคนหนึ่งคิดอุบายแก้โกง"

ท่านตุลาการ จึงวินิฉัยชี้ขาดว่า

"การแก้อุบายโกงนั้นดีแล้ว ถ้าหากหนูกัดกินผาลไถได้ เหยี่ยวก็คาบคนไปได้เหมือนกัน เจ้าคนที่ลูกชายหาย จงคืนเงินค่าผาลไถให้เจ้าของ ถ้าไม่ส่งเจ้าก็คงไม่ได้ลูกคืน"

"ถ้าเขาคืนลูกชายให้ ข้าพเจ้าจะคืนเงินค่าผาลไถให้เขาทันที" พ่อค้าในเมือง กล่าวกับตุลาการ

"เป็นอันตกลง เขาคืนเงินค่าผาลไถให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็นำตัวลูกชายมาคืนเขา" พ่อค้าบ้านนอกกล่าว

พ่อค้าทั้งสองเอาเงินค่าผาลไถและลูกชายมาคืนให้กันต่อหน้าตุลาการ

มาชาติสุดท้าย พ่อค้าคนโกงได้เกิดมาเป็นพ่อค้าคนโกงอีก พ่อค้าบ้านนอกได้มาเกิดเป็นอุบาสก ส่วนตุลาการได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนโกงย่อมมีคนโกงตอบ คนล่อลองก็มีคนล่อลวงตอบ เหนือโจรยังมีโจร เหนือคนโกงยังมีคนโกง "เพราะว่าทุกอย่างเป็นของคู่กัน"



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น