วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

งูเห่ากับพังพอน นิทานชาดก

คนเราเกิดมาร่วมโลกกัน ถึงแม้เป็นศัตรูกัน เราก็สามารถเป็นมิตรกันได้ ถ้าหากต่างฝ่ายต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่ถ้าหากต่างคนต่างเอาแต่ใจตนเอง ก็ยากที่จะเป็นมิตรกันได้ ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบขึ้นในสังคม "ศัตรูกลับเป็นมิตร" ได้หากไม่เอาแต่ทิฐิตน ดังนิทานเรื่องนี้มาใน "กุลชาดก ทุกนิบาติ"

เมื่อครั้งอดีตที่ยาวนาน ท่ามกลางป่าอันสงบสงัด ฤาษีตนหนึ่งได้นั่งบำเพ็ญเพียรภาวณาอยู่ในบรรณศาลาหลังน้อยอย่างเงียบ สงบ มีเพียงเสียงลมพัดยอดไม้ เสียงสรรพสัตว์ในป่าใหญ่ขับกล่อม และไร้ซึ่งแสงสีใด ๆ



ณ ที่ใกล้ ๆ บรรณศาลานั้น มีจอมปลวกใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง งูเห่ากับเจ้าพังพอนได้ยึกเป็นวิมาน แต่ว่างูเห่ากับเจ้าพังพอนมักจะหาเรื่องเถียงกัน ทะเลาะวิวาทกันอยุ่เสมอ จนเป็นที่รำคาญของฤาษี ฤาษีจึงดำริว่า

"อันงูเห่ากับพังพอนนี่ แม้มันเป็นศัตรูกัน แต่ถ้ามันถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่อวดแบ่งใส่กัน มันก็อาจจะเป็นมิตรกันได้ เราควรหาวิธีผูกมิตรให้มันทั้งคู่"



ในวันรุ่งขึ้น ฤาษีจึงเรียกงูเห่ากับพังพอนเข้ามาหา แล้วพูดกับพังพอนก่อนว่า

"พังพอน เจ้าเป็นสัตว์เกิดแต่เถ้าไคล เป็นสัตว์โลกเดียวกัน อยู่ในจอมปลวกเดียวกันกับงูเห่า เหตุใดจึงนอนแยกเขี้ยวเป็นศัตรูกันอยู่ทุกวี่วัน ภัยจะมีแต่ไหนกัน เจ้าระแวงกันไปเองต่างหาก"

"โอ้... พระเจ้าตา ไอ้เห่ามันมองหน้าข้าพเจ้าด้วยแววตาหาเรื่องอยู่เสมอ จะไม่ให้ข้าพเจ้าระแวงได้อย่างไร" พังพอนฟ้องทันที

ว่าแล้ว ฤาษีก็หันมากล่าวกับงูเห่าว่า

"งูเห่า... เจ้าก็เช่นกัน ต่างก็เป็นเพื่อนร่วมโลก อยู่ในป่าเดียวกัน เห็นกันอยู่ทุกวัน ควรจะเป็นมิตรกันไว้ เผื่อยามตกทุกข์ได้ยากจะได้พึ่งพากัน "

"พระเจ้าตา ไอ้พังพอนมันหาเรื่องก่อนนะ" งูเห่าโยนความผิดให้พ้นตัว

"เอาละ ...เจ้าทั้งคู่ลดทิฐิมานะ ลดการอวดเบ่งใส่กันได้แล้ว ถ้าเจ้าทั้งคู่ไม่หวาดระแวงกัน เจ้าทั้งคู่ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ที่เจ้าทะเลาะกันอยู่นี่ ก็เพราะความหวาดระแวงของตนเอง"

"ครับ พระเจ้าตา พวกข้าเจ้าจะไม่ระแวงกันอีกต่อไป" งูเห่ากับพังพอนรับปากฤาษี

จำเดิมแต่บัดนั้นเป็นต้นมา งูเห่าและพังพอนคู่นั้น ก็อยู่ร่วมจอมปลวกเดียวกันอย่างมีความสุข

มาชาติสุดท้าย งูกับพังพอนได้มาเกิดเป็นเสนาบดีที่เป็นศัตรูกัน แล้วภายหลังกลับเป็นมิตรกัน ส่วนฤาษีได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่หวาดระแวงกัน แม้จะเดินตามกัน หรือนอนอยู่บ้านเดียวกัน ก็หาความสุขไม่ได้ ความหวาดระแวง การอวดเบ่งใส่กัน เป็นต้นตอของความเข้าใจผิดกัน สามัคคีกันไว้เถิด เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญ ความสามัคคีว่า "สุขา สังฆัสสะ สามัคคี" ความสมัคคีของหมู่คณะนำประโยน์สุขมาให้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น