วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เพราะรักเมียแท้ ๆ นิทานชาดก

คนเราไม่อาจเลือกเกิดได้ตามใจชอบ เพราะหากเลือกเกิดได้ทุกคนคงอยากเกิดเป็นลูกคนรวย ไม่มีใครยอมเกิดเป็นลูกคนจนอย่างแน่นอน แต่ความรวยความจนไม่ใช่เครื่องชี้วัด "คุณธรรมในใจคน" คนรวยแต่จิตใจจนคุณธรรมก็มี คนจนแต่ใจมากล้นด้วยคุณธรรมก็มากหลาย ความมีความจนเป็นเพียงสิ่งที่สมมุติขึ้นเท่านั้น มิใช่สิ่งที่จะอำนวยความสุขให้ได้เสมอไป การกระทำของตัวเองต่างหาก เป็นบ่อเกิดความสุข นิทานเรื่องนี้มาใน "ปุบผรัตตชาดก เอกนิบาต"



กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีขอทานผัวเมียคู่หนึ่ง อาศัยอยูชานเมืองแห่งหนึ่ง เพราะเกิดมายากจนจึงไม่มีเงินพอที่จะซื้อเสื้อสวย ๆ มาสวมใส่ได้ มีเพียงผ้าขาวผืนเดียวที่ผู้เป็นผัวให้เมียซักแล้วเก็บไว้

ต่อมาวันหนึ่ง ในเมืองจัดงานประจำปีขึ้น เป็นงานรื่นเริงที่มีคนมาเที่ยวมากมาย สองผัวเมียจึงมานั่งคุยกัน ผู้เป็นผัวเอ๋ยขึ้นว่า

"น้องจ๋า... เอาผ้าที่ซักไว้มาให้พี่ พี่จะใส่ไปเที่ยว"

"อ่าวพี่ ... แล้วน้องละ " ผู้เป็นเมียถามอย่างน้อยใจ

"เรามีอยู่ผืนเดียว แบ่งกันคนละครึ่งก็แล้วกัน" ผัวเอ่ยอย่างเป็นธรรม

"ไม่ได้หรอกพี่ ผ้าผืนเดียวแค่นี้ แบ่งกันจะพอนุ่งห่มได้อย่างไรกัน" ผู้เป็นเมียค้าน

"ถ้าเป็นเช่นนั้น ให้พี่นุ่งไปเที่ยวก่อน เมื่อพี่กลับมาน้องใส่ไปเที่ยวก็แล้วกัน "

"ไม่เอาหรอก! งานนี้ใคร ๆ เขาก็แต่งตัวอวดกันด้วยเสื้อผ้าสวย ๆ งาม ๆ จะให้น้องใส่ผ้าขาวห่วย ๆ อย่างนี้ไปได้อย่างไร ได้อายคยเขาตายห่าเลย พี่ ... พี่รักน้อองจริงหรือเปล่า" ผู้เป็นเมียแสดงความไม่เจียมตัวออกมา และถามผัวอย่างมีเลศนัย

"รักสิ ... รักมากด้วย" ผู้เป็นผัวตอบ

"ถ้าพี่รักน้องจริง ก็หาผ้าสวย ๆ มาให้น้องใส่สิ" เมียผู้ไม่เจียมกล่าว

"โธ่! ฐานะอย่างเรา พี่จะหาเสื้อผ้าสวย ๆ มาให้น้องได้อย่างไร" ผู้เป็นผัวตอบด้วยความรุ้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในโชควาสนา แล้วย้อนถามผู้เป็นเมียว่า

"แล้วน้องตต้องการผ้าชนิดไหนละ! "

"น้องอยากได้ผ้าย้อมด้วยดอกคำสักผืนจ๊ะ" เมียตอบอย่างไม่ต้องคิด

"หา ... ผ้าย้อมดอกคำ มันเป็นของชั้นดี มีแต่ในคลังหลวงเท่านั้น จะหามาได้อย่างไร น้องคิดให้มันดี ๆ ซิ" ผู้เป็นผัวอุทานด้วยความตกใจ และบอกเหตุผลที่ไม่อาจหาผ้าชนิดนั้นมาได้

"พี่พูดเช่นนี้ หมายความว่าพี่ไม่รักน้องจริงใช่ไหม!" ผู้เป็นเมียตัดพ้อด้วยความน้อยใจ

"รักซี ทำไมพี่จะไม่รักเมียของพี่ " ผัวตอบไม่ทันจบ เมียก็พูดสอดขึ้นว่า

"ถ้าพี่รักน้อง แล้วทำไม ไม่อยากให้น้องแต่ตัวสวย ๆ เหมือนคนอื่นเขาละ"

ผู้เป็นผัวได้ฟังเช่นนั้น จึงพูดปลอบใจเมียว่า

"ก็เพราะรักน้องนี่ละ พี่จึงตามใจน้องทุกอย่าง"

"ถ้าพี่รักน้องจริง พี่ต้องไปขโมยผ้ามาจากคลังหลวงให้น้องสิจ๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าพี่ไม่รักน้องจริง" ผู้เป็นเมียพูดเอาแต่ได้ โดยไม่คิดถึงชีวิตของผัวเลยสักนิด

เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม่ใหญ่ข้างกระต๊อบ เห็นว่าเมียขอทานผู้นี้ไม่เจียมตัว ทะเยอทะยานให้ผัวไปขโมยของหลวง จึงปรามขึ้นว่า

"นี่พวกเจ้าทั้งสอง การคิดจะทำเช่นนั้นมันบาป และมีโทษอย่างมหันต์เลยนะ จงละเว้นเสียเถิด"

"เอ๊ะ ... เสียงใครมาห้าม" ทั้งสองอุทานพร้อมๆ กัน และสามีก็พูดว่า

"มีคนห้าม พี่ว่าต้องไม่ดีแน่ ๆ พี่ว่าน้องเชื่อพี่นะจ๊ะ มันไม่ดีหรอก นุ่งห่มตามมีตามเกิดเรานี่แหละ"

"ไม่เอาน้องไม่ยอมจริง ๆ ด้วย" ผู้เป็นเมียทำเสียงเง้างอน จนในที่สุดผู้เป็นผัวต้องยอมตามใจ

ดึกของคืนวันนั้น ขณะที่ทุกคนต่างพากันเที่ยวงานยอย่างสนุกสนาน ชายขอทานกลับแอบย่องเข้าไปในห้องท้องพระคลัง เพื่อขโมยผ้าย้อมดอกคำและทันใดนั้นเองก็มีเสียงร้องเอะอะโวยวายขึ้น

"ขโมย ...ขโมย... ช่วยกันจับให้ได้นะ เร็ว ๆ ขโมย ..."

ในที่สุดขอทานผู้น่าสงสารก็ถูกจับได้ เจ้าหน้าที่ต่างรุมซ้อมจนเขาสะบักสะบอม แล้วขังไว้โดยไม่สอบสวนแต่อย่างใด พอรุ่งเช้าจึงนำตัวเขาไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินให้พระองค์สอบสวนและตัดสิน พิจารณาโทษ หลังจากทรงสอบสวนวินิจฉัยแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการว่า

"นำไปเสียบหลาวประจานไว้นอกเมือง"

"รับด้วยเกล้าพระเจ้าค่ะ" เจ้าหน้าที่ทูลราชโองการ แล้วนำชายขอทานไปเสียบหลาวประจาน

ชายขอทานได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ก่อนจะสิ้นใจตาย เขาได้รำพึงรำพันเป็นคติไว้ว่า

"อันบุรุษที่ตายเพราะหลงรักสตรีนั้นมีมากหลาย การจะเลือกหญิงมาเป็นคู่ครองดำรงวงศ์ตระกูลนั้น ครวเลือกเอาหญิงที่ดีมีจรรยางาม อย่าเลือกเอาหญิงที่เห็นแก่ตัวเลย เพราะหญิงเช่นนี้จะนำอันตรายมาให้ ดังเช่นข้าพเจ้า"

เมื่อกล่าวจบ เขาก็สิ้นใจตายบนหลาวอย่างน่าเวทนาที่สุด

มาชาติสุดท้าย สองผัวเมียได้เกิดมาเป็นผัวเมียกันอีก ส่วนเทวดาได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โทษของความไม่รู้จักประมาณตน คนที่คิดการใหญ่เกินตน กระทำการใหญ่เกินตน ย่อมพบกับความพินาศ ล่มจม การประฟฤติผิดศิลธรรมจรรยาบรรณอันดีงามของสังคม เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง อนึ่ง การตามจภรรยาสุดที่รักนั้น ควรตามใจในสิ่งที่ถูก ที่ควร "รักเมียให้ถูกทาง" หากตามใจจนเกินเลย ความพินาศล่มจมจะมาถามหาอย่างแน่นอน

จิ้งจอกแข่งราชสีห์ นิทานชาดก

คนก็ดี สัตว์ก็ดี สมบูรณ์ด้วยทรัพสินและบริวาร ย่อมไม่ปรารถนาที่จะแข่งขันกับผู้ที่มีฐานะต่ำกว่า การแข่งขันเพื่อเอาชนะผู้มีฐานะต่ำกว่า ไม่ได้เกิดคุณประโยชน์อันใดเลย มิหนำซ้ำยังเป็นการลดตัวลงไปเปรียบกับผู้ที่ต่ำกว่านั้นอีกด้วย ดังนั้น ผู้มีฐานะสูงกว่าเขาจะไม่แข่งขันกับผู้ที่มีฐานะต่ำกว่า ดังนิทานเรื่องนี้ใน "ภัททรชาดก ทุกนิบาต"


ในป่าแห่งหนึ่ง พญาราชสีห์ตัวหนึ่ง มีลูกหนึ่งตัว อาศัยอยู่ในถ้ำ พร้อมกับบริวารมากมาย และในที่อันไม่ไกลจากนั้น มีสุนัขจิ้งจอกอาศัยอยู่

วันหนึ่งมีฝนตกลงมาอย่างหนัก เป็นเหตุให้สรรพสัตว์หลบอยู่ในที่อยู่อาศัย รวมทั้งราชสีห์ด้วย เมื่อฝนหยุดแล้วราชสีห์ทั้งหลายก็มาชุมนุมกันอยู่หน้าถ้ำ และพากันส่งเสียงสีหนาท ( เสียงของราชสีห์เป็นที่น่าเกรงขามของสัตว์ทั้งปวง
) พร้อม ๆ กัน เพื่อประกาศความเป็นเจ้าของป่า ให้สรรพสัตว์ได้รู้



จิ้งจอกพอได้ยินเสียงสีหนาทเช่นนั้น มันก็ต้องแสดงอำนาจของมันบ้าง จึงร้องด้วยเสียอันดัง เมื่อร้องแล้วก็รอฟังเสียงราชสีห์

ฝ่ายราชสีห์ทั้งหลายพอได้ยินเสียงร้องของสุนัขจิ้งจอก ก็พากันหัวเราะเยาะ ด้วยความสมเพชใจยิ่งนัก

"โธ่ ... ไอ้จิ้งจอกชั้นต่ำ ช่างไม่เจียมตัวจริง ๆ บังอาจมาร้องแข่งกับพวกเรา"

แล้วราชสีห์ทั้งหมดก็พยายามเงียบเสียง ด้วยไม่ปรารถนาที่จะร้องแข่งกับสุนัขจิ้งจอก เพราะเห็นว่าสุนักจิ้งจอกเป็นสัตว์ชั้นต่ำกว่าตน

ข้างฝ่ายเจ้าจิ้งจอก เมื่อไม่ได้ยินเสียงร้องของราชสีห์ ก็คิดกำเริบเสิบสานลำพองใจยิ่งนัก

"ฮ่า ๆๆๆ ... ข้านึกว่ามันจะแน่ พอได้ยินเสียงเรา ก็พากันเงียบกริบปานเป่าสาก "

ลูกพญาราชสีห์ เมื่อเห็นฝูงราชสีห์พากันเงียบ จึงเกิดความสงสัย จึงถามพญาราชสีห์ว่า

"เสียงสัตว์ชนิดใด ครอบงำเสียงราชสีห์ ราชสีห์ได้ยินเสียงเช่นใดจึงไม่ร้องตอบกลับหรือพ่อ !"

"ลูกเอ๋ย เสียงที่ลูกได้ยินมันเป็นเสียงจิ้งจอกชั้นต่ำ ราชสีห์ไม่ชอบสกุลมัน จึงไม่ร้องตอบมัน การร้องแข่งกับเจ้าจิ้งจอก ก็เหมือนกับการลดตัวลงไปเทียบกับมัน ดังนั้น ราชสีห์จึงไม่ร้องตอบมัน ลูกเอ่ย"

ลูกพญาราชสีห์ได้ฟังเช่นนั้น ก็หายข้องใจทันที

ในชาติสุดท้าย สุนักจิ้งจอกได้เกิดมาเป็นพระโกกาลิก และเพื่อนพระเทวทัต ส่วนพญาราชสีห์ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การแข่งขันกับคนชั่ว การแข่งขันกับคนโง่ การแข่งขันกับคนพาลสันดาลหยาบ ถึงแม้จะชนะได้ก็ไม่คุ้ม ไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่ทำให้ตนมัวหมอง เสื่อมเสียเกียรติภูมิไปด้วย

นกมูลไถ พิชิตเหยี่ยว นิทานชาดก

ธรรมดาของสัตว์โลกทุกชนิด ผู้มีกำลังย่อมกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบผู้อ่อนแอกว่า แต่ถ้าผู้อ่อนแอกว่าใช้สติปัญญา ให้ไหวพริบปฏิภาณ ย่อมสามารถพิชิต ผู้มีกำลังมากกว่าได้ ดังนิทานเรื่องต่อไปนี้ ซึ่งมาใน "สกุณมิคชาดก ทุกนิบาต"




ณ ทุ่งกว้างแแห่งหนึ่ง นกมูลไถตัวหนึ่งหากินอยู่ตามมูลไถที่เขาไถไว้ ได้รับความสุขและความปลอดภัยด้วยดีเสมอมาเป็นเวลาช้านาน แต่เมื่อเนินนานไปนกมูลไถเริ่มเบื่อกับความจำเจ คิดอยากไปหาประสบการณ์ที่อื่น ๆ บ้าง ตามประสาผู้อยากรู้อยากเห็น

"เอ้อ ... เราหากินอยู่ที่นี่ก็นานค่อนชีวิตแล้ว เราน่าจะไปหากินยังที่อื่น ๆ บ้าง เผื่อจะอุดมสมบูรณ์กว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยู่อย่างนี้มันไร้รสชาติสิ้นดี"

เมื่อคิดเช่นนั้นแล้ว เจ้านกมูลไถก็ย้ายทำเล หากินของตนไปยังที่อื่นทันที โดยลำพัง เพราะความอยากรู้อยากสัมผัสบรรยากาศใหม่ ๆ บินมาได้ไกลพอสมควร เจ้านกมูลไถเห็นที่โล่งแห่งหนึ่งอาหารชุกชุม ถึงได้ถลาลงหากินอย่างเพลิดเพลิน



วันแรกผ่านไปด้วยดี แต่เหตุร้ายก็มาเยือน พอในวันที่สอง ขณะที่นกมูลไถหากินอยู่นั้น เหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลงมาจิกตัวมันไป โดยมี่นกมูลไถไม่มีโอกาสได้ป้องกันตัวเลย เพราะความไม่ชำนาญพื้นที่ มันจึงร้องคร่ำครวญด้วยความเสียใจว่า

"โอ้ ... เรานี่ช่างบุญน้อยเสียจริง เรารักษาตัวไม่รอดเพราะมาหากินต่างถิ่น ถ้าเรายังหากินยังถิ่นของเรา เราคงไม่ถูกทำร้ายเช่นนี้แน่"

"เจ้าหากินอยู่ที่ไหน..." เหยี่ยวได้ฟังนกมูลไถคร่ำครวญ จึงถามอย่างใคร่รู้

"เราหากินตามมูลไถ ยังชายเมืองโน่น และไม่เคยมีใครมาทำร้ายเราได้เลย แม้แต่พวกท่าน" นกมูลไถเห็นโอกาสที่จะรอดพ้นจากความตาย จึงกล่าวทำนองว่าถ้าแน่จริงก็ปล่อยข้าแล้วไปไล่จับยังถิ่นข้าสิ

"เจ้าคิดว่่าเจ้าอยู่ยังถิ่นของเจ้าจะพ้นเงื้อมมือข้าเรอะ ข้าจะปล่อยเจ้าไปแล้ววันหน้าข้าจะไปตามล่าเจ้า แล้วเจ้าจะรู้ว่าเจ้าคิดผิด เพราะลำพังแค่ขี้ไถจะช่วยอะไรเจ้าได้ ฮ่า ๆๆๆ..." เหยี่ยวกล่าวอย่างมั่นใจในศักยภาพของตัวเองแล้วปล่อยนกมูลไถไป



นกมูลไถ เมื่อรอดตายก็รีบบินกลับยังภูมิลำเนาเดิมของตนทันที และก็ไม่คิดที่จะไปหากินที่อื่นอีกเลย มันจะหากินด้วยความระมัดระวัง เพราะเกรงว่าเหยี่ยวจะโฉบจิกเอาไปเป็นเหยื่อ

และแล้ววันหนึ่ง ขณะที่นกมูลไถกำลังหากินอยู่นั้น พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นเหยี่ยวตัวที่เคยจับตน กำลังบินโฉบ บินร่ิอนอยู่ จึงร้องทักทายว่า

"เฮ้ย ... เจ้าเหยี่ยว ข้ออยุ่นี่ ครั้งก่อนข้าพลาดถูกเจ้าจับกินนอกถิ่น ถ้าเจ้าแน่จริง ก็จับข้าให้ได้เร็ว ๆ ข้าจะรอ ..."

"บังอาจ !... เจ้ากล้าท้าทายเราเรอะ ไอ้กระจอก เตรียมตัวตายได้เลย " เหยี่ยวได้ยินคำร้องท้าทายจากนกมูลไถตัวเล็ก ๆ กโมโหโกรธ จึงตวาดไปแล้วก็รีบถลาลงมาอย่างรวดเร็ว

นกมูลไถระวังตัวอยู่แล้ว มันจึงหลบลงไปตามก้อนดินที่เขาไถไว้ เหยี่ยวไม่ได้ระวังตัว หุบปีกทั้งสองข้างดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว ด้วยหมายจะพิฆาตนกมูลไถ จึงหลบไม่ทัน หน้าอกกระแทกก้อนดินอย่างแรง จนอกแตกตายคาที่

นกมูลไถ เมื่อเห็นตัวปลอดภัยดีแล้ว จึงออกมาจากที่ซ่อน แล้วจึงกล่าวอย่างผู้มีชัยว่า

"อย่าคิดว่าเจ้ามีกำลังมากกว่า แล้วจะรังแกผู้ด้อยกว่าได้เสมอไป หากผู้มีกำลังด้วยกว่าใช้สติปัญญา อย่างรอบคอบ ก็อาจจะเอาชนะได้เช่นกัน"

มาชาติสุดท้าย เหยี่ยว ได้เกิดมาเป็นพระเทวทัต ส่วนนกมูลไถ ได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่มีกำลังเข้มแข็ง แต่หากหยิ่งทรนง ย่อมจะพบกับภัยพิบัติมากกว่าจะพบความสำเร็จ จงเข้มแข็ง แต่อย่าแข็งกระด้าง จงอ่อนน้อม แต่อย่าอ่อนแอ




งูเห่ากับพังพอน นิทานชาดก

คนเราเกิดมาร่วมโลกกัน ถึงแม้เป็นศัตรูกัน เราก็สามารถเป็นมิตรกันได้ ถ้าหากต่างฝ่ายต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่ถ้าหากต่างคนต่างเอาแต่ใจตนเอง ก็ยากที่จะเป็นมิตรกันได้ ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบขึ้นในสังคม "ศัตรูกลับเป็นมิตร" ได้หากไม่เอาแต่ทิฐิตน ดังนิทานเรื่องนี้มาใน "กุลชาดก ทุกนิบาติ"

เมื่อครั้งอดีตที่ยาวนาน ท่ามกลางป่าอันสงบสงัด ฤาษีตนหนึ่งได้นั่งบำเพ็ญเพียรภาวณาอยู่ในบรรณศาลาหลังน้อยอย่างเงียบ สงบ มีเพียงเสียงลมพัดยอดไม้ เสียงสรรพสัตว์ในป่าใหญ่ขับกล่อม และไร้ซึ่งแสงสีใด ๆ



ณ ที่ใกล้ ๆ บรรณศาลานั้น มีจอมปลวกใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง งูเห่ากับเจ้าพังพอนได้ยึกเป็นวิมาน แต่ว่างูเห่ากับเจ้าพังพอนมักจะหาเรื่องเถียงกัน ทะเลาะวิวาทกันอยุ่เสมอ จนเป็นที่รำคาญของฤาษี ฤาษีจึงดำริว่า

"อันงูเห่ากับพังพอนนี่ แม้มันเป็นศัตรูกัน แต่ถ้ามันถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่อวดแบ่งใส่กัน มันก็อาจจะเป็นมิตรกันได้ เราควรหาวิธีผูกมิตรให้มันทั้งคู่"



ในวันรุ่งขึ้น ฤาษีจึงเรียกงูเห่ากับพังพอนเข้ามาหา แล้วพูดกับพังพอนก่อนว่า

"พังพอน เจ้าเป็นสัตว์เกิดแต่เถ้าไคล เป็นสัตว์โลกเดียวกัน อยู่ในจอมปลวกเดียวกันกับงูเห่า เหตุใดจึงนอนแยกเขี้ยวเป็นศัตรูกันอยู่ทุกวี่วัน ภัยจะมีแต่ไหนกัน เจ้าระแวงกันไปเองต่างหาก"

"โอ้... พระเจ้าตา ไอ้เห่ามันมองหน้าข้าพเจ้าด้วยแววตาหาเรื่องอยู่เสมอ จะไม่ให้ข้าพเจ้าระแวงได้อย่างไร" พังพอนฟ้องทันที

ว่าแล้ว ฤาษีก็หันมากล่าวกับงูเห่าว่า

"งูเห่า... เจ้าก็เช่นกัน ต่างก็เป็นเพื่อนร่วมโลก อยู่ในป่าเดียวกัน เห็นกันอยู่ทุกวัน ควรจะเป็นมิตรกันไว้ เผื่อยามตกทุกข์ได้ยากจะได้พึ่งพากัน "

"พระเจ้าตา ไอ้พังพอนมันหาเรื่องก่อนนะ" งูเห่าโยนความผิดให้พ้นตัว

"เอาละ ...เจ้าทั้งคู่ลดทิฐิมานะ ลดการอวดเบ่งใส่กันได้แล้ว ถ้าเจ้าทั้งคู่ไม่หวาดระแวงกัน เจ้าทั้งคู่ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ที่เจ้าทะเลาะกันอยู่นี่ ก็เพราะความหวาดระแวงของตนเอง"

"ครับ พระเจ้าตา พวกข้าเจ้าจะไม่ระแวงกันอีกต่อไป" งูเห่ากับพังพอนรับปากฤาษี

จำเดิมแต่บัดนั้นเป็นต้นมา งูเห่าและพังพอนคู่นั้น ก็อยู่ร่วมจอมปลวกเดียวกันอย่างมีความสุข

มาชาติสุดท้าย งูกับพังพอนได้มาเกิดเป็นเสนาบดีที่เป็นศัตรูกัน แล้วภายหลังกลับเป็นมิตรกัน ส่วนฤาษีได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่หวาดระแวงกัน แม้จะเดินตามกัน หรือนอนอยู่บ้านเดียวกัน ก็หาความสุขไม่ได้ ความหวาดระแวง การอวดเบ่งใส่กัน เป็นต้นตอของความเข้าใจผิดกัน สามัคคีกันไว้เถิด เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญ ความสามัคคีว่า "สุขา สังฆัสสะ สามัคคี" ความสมัคคีของหมู่คณะนำประโยน์สุขมาให้


เกลือจิ้มเกลือ นิทานชาดก

คนที่หาวิธีคดโกงผู้อื่น เมื่อผู้อื่นรู้ทัน ย่อมจะไม่ได้รับความเชื่อถือ เมื่อโกงเขา เขาก็ย่อมโกงตอบ หรือหาหนทางแก้ไขและป้องกัน นิทานจะเล่าต่อไปนี้มาใน "สุหนุชาดก ทุกนิบาต"

ในอดีตที่ผ่านมา พระเจ้าพรหมทัตได้เสวยราชย์ปกครองอาณาประชาราษฎร์ พระองค์สร้างกองทัพให้มีความเข้มแข็ง โดยได้ตั้งงบประมาณซื้อม้ามาประจำการกองทัพ จึงได้ตั้งข้าราชการผู้หนึ่งขึ้นเป็นผู้ติดต่อ ตีราคาซื้อม้า ซึ่งเจ้าหน้าที่คนนี้มีคุณธรรม ซื้อม้าในราคายุติธรรม ทำให้พระองค์คิดว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงคิดหาวิธีซื้อม้าในราคาถูก ๆ จึงได้ปลดเจ้าหน้าที่คนเก่าออก แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ซื้อมาคนใหม่เข้ารับหน้าที่แทนและได้สั่งกำชับไว้อย่างดีว่า



"นี่...เจ้าคนเก่านั้นมันซื้อม้าราคาแพงเกินไป เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เจ้าต้องซื้อในราคาถูก ๆ คือเมื่อพ่อค้านำม้ามาขาย เจ้าต้องปล่อยม้าตัวที่ดุร้ายให้ออกมากัดม้าของพ่อค้า ที่นี้เจ้าก็กดราคามันเสียให้หนัก"

"พระเจ้าค่ะ" เจ้าหน้าที่ซื้อม้าคนใหม่รับพระราชโองการ

เมื่อพ่้อค้านำม้ามาขาย เจ้าหน้าที่คนใหม่ก็ปล่อยม้าตัวดุร้ายให้ออกมาอาละวาดกัดม้าของพ่อค้าจนเป็นแผล พอเวลาตีราคา เจ้าหน้าที่คนใหม่ก็กดราคาว่า

"นี่ม้าพวกเจ้ามีแต่แผล จะให้ซื้อราคาแพง ๆ ไม่ได้หรอก ของไม่ดี ไม่มีคุณภาพอย่างนี้"

พอกล่าวเช่นนี้แล้วก็ตีราคาม้าในราคาต่ำจนพ่อค้าขาดทุนยับเยิน พวกพ่อค้าจึงปรึกษากันว่า

"ขืนเป็นแบบนี้พวกเราแย่แน่ ๆ พวกเราต้องหาทางแก้ ... ไหนใครมีวิธีดี ๆ เสนอบ้าง"

"พวกเราควรไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่คนเดิมนะ เพราะแกเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบพวกเรา แกคงมีวิธีแก้ไขแน่" พ่อค้าคนหนึ่งเสนอ

พ่อค้าจึงพากันเดินทางไปหาเจ้าหน้าที่คนเก่า เมื่อไปถึงก็ปรับทุกข์ทันทีว่า

"นี่ท่าน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป พวกผมไม่มีทุนเลี้ยงม้าขาขายอีกแน่นอน ที่มีวิธีแก้ไขอย่างไรช่วยบอกทีเถอะ"

อดีตเจ้าหน้าที่ซื้อม้า คิดใคร่ครวญตามที่พ่อค้าม้าเล่าให้ฟังอยู่ครู่หนึ่งจึงกล่าวว่า

"แบบนี้ต้องเกลือจิ้มเกลือ เพราะหากสิ่งที่มีกำลังเสมอกัน ย่อมจะไม่ทำอันตรายแก่กัน ดังนั้น เมื่อพวกท่านนำม้ามาขาย จงเอาม้าตัวที่ดุร้ายมาด้วย เวลาเขาปล่อยม้าที่ตัวดุ ๆ ออกมา พวกท่านก็จงปล่อยม้าตัวที่ดุ ๆ ออกมาเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็จะทำอะไรกันไม่ได้"

เหล่าพ่อค้าได้ฟังกลอุบายต่างก็พออกพอใจ แล้วลาอดีตเจ้าหน้าที่กลับไป

ในกาลต่อมา พ่อค้าเหล่านั้นก็นำม้ามาขายอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้ามี่ปล่อยม้าตัวดุร้ายออกไปพวกพ่อค้าก็ปล่อยม้าตัวที่ดุร้ายออกมาเช่นกัน ร้ายต่อร้ายเจอกันต่างดูเชิงกันอยู่ ไม่มีตัวไหนกล้าลงมือ ทำให้เจ้าหน้าที่แปลกใจยิ่งนัก และจำเป็นต้องซื้อม้าในราคาเต็ม

เมื่อซื้อเสร็จแล้ว ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าพรหมทัต

"แผนการของพระองค์ล้มแหลวแล้ว"

"ล้มแหลวได้อย่างไรกัน!" พระเจ้าพรหมทัตตรัสถาม และทรงดำริในพระทัยว่า

"แปลกแท้ ๆ มันต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ ๆ"

จึงเชิญอดีตเจ้าหน้าที่มาปรึกษาหารือ เจ้าหน้าที่คนเก่งจึงกราบทูลรายงานว่า

"ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะม้าทั้งสองฝ่าย ต่างมีนิสัยเหมือนกัน ดุร้ายพอ ๆ กัน จึงมิอาจทำอันตรายแก่กันได้"

พระเจ้าพรหมทัตพิจารณาความจริงตามนั้น จึงสั่งให้ซื้อม้าในราคาเต็มตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ฝ่ายพ่อค้าทั้งหลายต่างก็ยงย่องสรรเสริญสติปัญญาของอดีตเจ้าหน้าที่ ที่ได้ช่วยแนะแนวทางให้พวกตนได้รับความยุติธรรม

มาชาติสุดท้าย พระเจ้าพรหมทัตได้เกิดมาเป็นพระอานนท์ เจ้าหน้าที่ซื้อม้าคนเก่า ได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่เห็นแก่ได้นั้น ย่อมสรรหาวิธีมาโกงอยู่เสมอ แต่การโกงนั้น ย่อมสร้างความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย อนึ่ง คนที่มีสติปัญญา ย่อมสามารถเป็นที่พึ่งของผู้ตกทุกข์ได้ยาก ประดุจพ่อแม่ซึ่งเป็นที่พึ่งพาของลูก ๆ และผู้ที่มีอัธยาศัยเหมือนกันย่อมเข้ากันได้ดี ดังเช่นนิทานเรื่องนี้



รักต่างชั้น นิทานชาดก

นิทานเรื้องนี้มาใน "สิงคาลชาดก ทุกนิบาต" ชี้ให้เห็นโทษของการไม่เจียม ไม่รู้จักประมาณตน ทะเยอทะยานเกินกำลัง

ท่ามกลางป่าใหญ่อันสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ครอบครับราชสีห์ครอบครับหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งรวมทั้งสิ้น 10 ตัว คือ พ่อแม่ พี่ตัวผู้ 7 ตัว น้องตัวเมีย 1 ตัว

ในที่ไม่ไกลจากนั้นมีถ้ำแก้วผลึกแห่งหนึ่ง เป็นที่อาศัยของสุนัขจิ้งจอก ทั้งราชสีห์ ทั้งสุนัขจิ้งจอกต่างก็อยู่ในเขตของตน ไม่ล้วงล้ำอาณาเขตของกันและกัน ทั้ง 2 ฝ่ายจึงอยุ่ในป่าเดียวกันได้อย่างสันติสุขเสมอมา

ครั้งเมื่อกาลเวลาล่วงผ่านไปโดยลำดับ พ่อแม่ราชสีห์ตายลงตามอายุขัย คงเหลือแต่ลูก 8 ตัวพี่น้อง ซึ่งต่างก็รักใคร่กลมเกลี่ยวกันดี โดยพี่ทั้ง 7 จะเป็นผู้นำอาหารให้น้องตัวเมีย ผลัดเปลี่ยนเวรกันตัวละวัน มันไม่ยอมให้น้องตัวเมีย ซึ่งเป็นน้องเล็กของมันออกล่าเหยื่อด้วยตัวเอง เพราะกลัวจะได้รับอันตรายและพวกมันยังหวงน้องราวกับไข่ในหินก็มิปาน

ฝ่ายเจ้าจิ้งจอกตั้งแต่พ่อแม่ราชสีห์ตายไป มันก็กล้าที่จะผ่านมาทางถ้ำราชสีห์ บังเอิญวันหนึ่งได้เห็นราชสีห์สาวน้อยอยู่ในถ้ำตัวเดียว มันจึงเข้าไปหา พูดจาผูกมิตรไมตรี วันแล้ว วันเล่า จนจิ้งจอกหลงรักราชสีห์สาวน้อยอย่างหัวปักหัวปำ วันไหนไม่ได้เห็นหน้าขอให้ได้ผ่านหน้าถ้ำก็สุขใจ



เมื่อผูกมิตรไมตรีได้ระยะเวลาพอสมควร จิ้งจอกหนุ่มก็คิดจะบอกรัก และขอราชสีห์สาวแต่งงาน มันจึงพยายามรวบรวมความกล้า ลบล้างความกระดากอายออกจากใจ แล้วจึงตรงไปหาราชสีห์สาว พูดจาเกี้ยวพาราสี พร่ำพรรณนาต่าง ๆ นานา

"น้องจ๋า พี่จอกนี้รักน้องสีห์จริง ๆ นะ เดี๋ยวพี่จะให้ผู้ใหญ่มาขอน้องจะว่ายังไงจ๊ะ"

"พี่จอก เรามันคนละชั้นกัน ต่างเผ่าพันธุ์กัน เรารักกันไม่ได้หรอก" ราชสีห์สาวพูดอย่างไม่ใส่ใจ

"พี่รักน้องสีห์จริง ๆ นะ แม้เราจะต่างเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติกัน แต่ความรักมันไม่มีพรหมแดน น้องสีห์จะไม่สงสารพี่บ้างเลยหรอ !" จิ้งจอกหนุ่มยังไม่ลดความพยายาม

"ฉันไม่สงสารพี่หรอก และไม่สนใจด้วย เรามันคนละชั้น" ราชสีห์สาวตัดบทอย่างไม่มีเยื่อใย

เจ้าจิ้งจอกเห็นว่าไม่ได้ผล จึงจำใจหอบความผิดหวังกลับถ้ำ แต่มันก็มาเกี้ยวพาราสีทุกวัน ในขณะที่พี่ๆ ของราชสีห์สาวออกล่าเหยื่อ จึงสร้างความกลุ้มอกกลุ้มใจให้ราชสีสาวยิ่งนัก จนเป็นที่ผิดสังเกตของพี่ ๆ ด้วยความห่วงใยมันจึงพากันถามน้องสาวตัวเดียวของมันว่า

"น้องเป็นอะไรไปหรือ! ดูน้องกลุ้มใจอยู่ มีอะไรก็บอกพี่ๆ มาเถิด อย่าปกปิดเลย"

"เอ้า... บอกพวกพี่มาสิ ใครรังแกน้องพี่ พวกพี่จัดการเอง" น้องสาวเงียบ พี่ ๆ จึงคะยั้นคะยอถาม และนางราชสีห์สาวน้อยก็ระบายความอัดอั้นตันใจให้พี่ ๆ ฟังอย่างละเอียด

"เฮ้ย ! มันขนาดนั้นเลยเหรอ มันชักจะมากไปแล้ว ไอ้จิ้งจอกสถุล ริบังอาจจีบน้องข้า เดี๋ยวจะต้องสั่งสอนให้รู้สำนึก" บรรดาพี่ๆ พอได้ฟังน้องสาวบรรยายต่างก็พากันเดือดดาลอย่างยิ่ง

"น้องพี่ ไอ้เจ้าจิ้งจอกมันอยู่ไหน เดี๋ยวพี่จะจัดการมันเอง" ราชสีห์ผู้พี่ตัวหนึ่งถามน้องสาวด้วยความเดือดแค้น

"ใช่...ใช่...ใช่ พวกเราต้องจัดการมัน" บรรดาพี่ ๆ ต่างสนับสนุน

ราชสีห์ตัวพี่ใหญ่ เมื่อเห็นน้อง ๆ พากันเดือดดาลใจ จึงกล่าวเตือนว่า

"ใจเย็น ๆ น้องพี่ เมื่อน้องสาวเราไม่เล่นด้วย เจ้าจิ้งจอกจะทำอะไรได้"

"ไม่ได้พี่ ต้องจัดการมัน ไม่งั้นไม่หายแค้น ... เจ้าจิ้งจอกมันอยู่ไหนบอกพี่มาเร็ว" พี่ตัวหนึ่งคัดค้านพี่ใหญ่ แล้วหันไปถามน้องสาว



"เจ้าจิ้งจอกมันอยู่ในอากาศจ๊ะพี่" ราชสีห์สาวบอกตามความรุ้สึก เพราะเห็นถ้ำแก้วผลึกส่องแสงสว่างเหมือนกลางหาว

บรรดาพี่ ๆ ทั้งหมดยกเว้นพี่ใหญ่ จึงพากันกระโจนตรงไปยังถ้ำแก้ผลึก เมื่อไปถึงก็มองเห็นสุนัขจิ้งจอกอยู่ในถ้ำแก้วผลึก จึงพากันกระโจนใส่จนสุดแรง ทำให้หน้าอกกระแทกถ้ำแก้วผลึกหัวใจแตกตายหมดทั้ง 6 ตัว

"เอ ... สงสัยเจ้าจิ้งจอก คงไม่ได้อยู่ในอากาศแน่ ๆ น้อง ๆ เราไม่น่าบู่มบ่ามเลย" ราขสีห์พี่ใหญ่คิดและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก็รู้ว่าสุนัขจิ้งจอกไม่ได้อยุ่ในอากาศ แต่อยู่ในถ้ำแก้วผลึก จึงแผดเสียงร้องดังก้องป่า สุนัขจิ้งจอกได้ยินเสียงราชสีห์ก็กลัวจนหัวใจแตกตาย

ชาติสุดท้าย สุนัขจิ้งจอกได้เกิดเป็นลูกชายช่างตัดผม นางราชสีห์สาวได้เกิดเป็นราชินีเมืองไฟศาลี พี่ชายใหญ่ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โทษของความไม่รอบคอบ กระทำอะไรโดยไม่พิจารณา ย่อมได้รับผลเสียมากกว่าผลดี ดังเช่น ราชสีห์ทั้ง 6 ตัว และการที่รักชอบ ผู้สูงศักดิ์กว่า ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก คนที่ไม่เจียมตัว มักทะเยอทะยานใผ่สูง ก็ย่อมจะพบความผิดหวัง ดังเช่นสุนัขจิ้งจอก



ตายเพราะปาก นิทานชาดก

การพูดจาโดยไม่รู้กาลเทศะ ย่อมทำให้เกิดผลเสียมากกว่าจะทำให้เกิดผลดี คนที่พูดไม่ถูกเวลา มักจะพบกับความพินาศ นิทานเรื่องต่อไปนี้ มาใน "กัสสปชาดก ทุกนิบาต"



ณ สระน้ำที่แห้งขอดแตกระแหง เต่าตัวหนึ่งกำลังหากินอย่างลำบาก ขณะนั้นมีหงส์ 2 ตัว บินผ่านมาเห็นเต่ากำลังหากินในหนองน้ำที่แห้งขอด เมื่อเห็นภาพเช่นนั้นจึงร้องถามว่า

"นี่เจ้าเต่า ! สุขสบายดีหรือเปล่า อาหารการกินเป็นอย่างไรบ้างละ ! "

"โอ้ย... แย่มากข้าจะอดตายอยู่แล้ว "

"เจ้าไปอยู่กับพวกเราสิ อาหารอุดมสมบูรณ์ เจ้าจะไม่ลำบากแบบนี้" หงส์ทั้ง 2 ตัวชวน

"จะไปยังไงละ !" เต่าถาม

"ไม่ใช่เรื่องยากหรอก เดี๋ยวเราทั้งสองจะหามเจ้าไปเอง" หงส์ทั้งสองกล่าว

หงส์ตัวหนึ่งได้นำท่อนไม้ ขนาดพอเหมาะมาท่อนหนึ่งแล้วกล่าวว่า

"เจ้าคาบท่อนไม้นี่ให้แน่น ห้ามพูดเด็ดขาด ใครถามใครทักก็ห้ามพูด"

"ตกลง มันไม่ใช่เรื่องยากเลย" เต่าเอ่ยขึ้นแล้วก็คาบตรงกลางท่อนไม้

ฝ่ายหงส์ทั้งสองคาบท่อนไม้คนละข้าง แล้วบินไปในอากาศ ขณะที่บินผ่านเมืองพาราณาสี เด็กทั้งหลายต่างก็ตะโกนขึ้นว่า

"หงส์หามเต่า หงส์หามเต่า"

เต่าได้ยินก็คิดจะตอบว่ามันเรื่องอะไรของพวกเอ็ง พอคิดแล้วก็ลืมคำเตือนของหงส์ มันจึงอ้าปากจะพูด พออ้าปาก ร่างก็หล่นลอยละลิ่วลงมาจากอากาศกระแทกพื้นกระดองแตก ตายคาที่

ชาวเมืองต่างพากันมุงดู เพราะไม่เคยเห็นเหตุการณ์ประหลาดเช่นนี้มาก่อน

ในขณะที่พระเจ้าพรหมทัตกำลังเสด็จเลียบพระนคร ทอดพระเนตเห็นชาวเมืองกำลังชุ่มนุม จึงสั่งถามอำมาตย์ว่า

"เขามุงดูอะไรกันหรือ ท่านอำมาตย์"

อำมาตย์จึงกราบทูลรายละเอียดให้ทรงทราบ แล้วกราทูลว่า

"ขอเดชะ เต่าตัวนั้น ตายเพราะปากของมันเอง มันคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว แต่อ้าปากพูดในเวลาที่ไม่เหมาะสม ปากมันจึงพิฆาตตัวเอง ขอเดชะ บัณฑิตที่เห็นเหตุการณ์นี้ จึงควรจะพูดแต่เรื่องที่ดีงามตามกาลเวลาที่สมควร อย่าได้เที่ยวพูดพล่ามเป็นน้ำท่วมทุ่ง พระเจ้าค่ะ

พระราชาทรงสดับดังนั้น ก็ทรงเข้าพระทัยว่าอำมาตย์เตือนพระองค์ทางอ้อม ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็ไม่ตรัสพร่ำเพรื่อเหมือนแต่ก่อนอีกเลย

มาชาติสุดท้าย พระเจ้าพรหมทัตได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ ส่วนอำมาตย์ ได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การพูดจาทั้งเรื่องดีมีประโยชน์ ทั้งเรื่องไม่ดี ไม่มีสาระ ในกาลเวลาที่ไม่เหมาะสม ย่อมเกิดโทษ มากกว่าผลดี การจะพูดอะไรต้องรุ้จักเวลา เหตุการณ์ และสถานะการณ์ ไม่เที่ยวพูดพล่ามอวดรู้อวดฉลาด
"พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากอาจมีสี"

อุบายแก้กลโกง นิทานชาดก

คนที่คดโกงผู้อื่น ผู้อื่นก็จะโกงตอบ ผู้มีไหวพริบปฏิภาณ ย่อมสามารถแก้กลโกงของผู้อื่นได้อย่างแยบยน นิทานเรื่องนี้มาใน "กูฏวาณิชชาดก ทุกนิบาต"

กาลครั้งหนึ่ง มีพ่อค้า 2 คน เป็นเพื่อนรักกัน คนหนึ่งอยู่ในเมือง อีกคนหนึ่งอยู่บ้านนอก ทั้งสองต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและทำมาค้าขายร่วมกันอย่างราบรื่นเสมอมา

อยู่มาวันหนึ่งพ่อค้าบ้านนอกได้นำผาลไถจำนวน 500 เล่มเข้าไปฝากเพื่อนผู้เป็นพ่อค้าในเมืองให้ช่วยขาย



"เพื่อนรัก ฝากขายหน่อยนะ" ขายหมดเมื่อไรเราค่อยมาแบ่งกัน พ่อค้าชาวเมืองก็รับฝากขายให้

พ่อค้าในเมืองขายผาลไถหมดแล้ว ก็เกิดความโลภ จึงหาอุบายวิธีที่จะโกงพ่อค้าบ้านนอก อีกหลายวันต่อมาพ่อค้าบ้านนอกก็เข้ามาในเมือง

"สวัสดีเพื่อน ขายดีไหม เราเอาเงินมาแบ่งกันดีกว่า" พ่อค้าบ้านนอกทัก

"แย่ละเพื่อน ... หนูกัดผาลไถหมดเลย" พ่อค้าในเมืองกล่าวและชี้ให้ดูกองขี้หนูที่ตนเองได้นำมากองไว้ พลางกล่าวขอโทษอย่างจริงใจ

"นั่นแหละ คือสิ่งที่มันทิ้งไว้ ขอโทษจริงๆ เพื่อน ข้าสะเพร่าเอง"

พ่อค้าบ้านนอกรู้ว่าเป็นกลโกงของเพื่อน จึงพูดแบบไม่ใส่ใจว่า

"ช่างมันเถอะ มันกินหมดแล้วก็ช่างมัน ข้าอยากอาบน้ำหน่อยว่ะ "

"เอาเลยตามสบาย" พ่อค้าในเมืองบอกพลางนึกกระหยิ่มใจ ที่อุบายของตนใช้ได้ผลกับเพื่อนรักร่วมค้าขาย

พ่อค้าบ้านนอก ได้ชวนลูกชายของพ่อค้าขี้โกงไปยังท่าน้ำ และได้นำเด็กไปไว้ที่บ้่านเพื่อนอีกหลังหนึ่ง แล้วก็กลับมาที่บ้านพ่อค้าขี้โกงคนเดียว ด้วยความกระหืดกระหอบ

"อ้าว! แล้วลูกชายข้ามันไปไหนเสียละ" พ่อค้าในเมืองถามทันที

"เพื่อนรัก ตอนข้าอาบน้ำอยู่ เหยี่ยวดำตัวใหญ่ได้โอบเอาลูกชายเพื่อนที่ยืนอยู่บนฝั่งไป ข้าปรบมือไล่มัน มันก็ไม่ปล่อย กลับบินหนีไป"

"เจ้า ... เจ้าฆ่าลูกชายข้า ข้าจะเอาเจ้าเข้าคุก" พ่อค้าในเมืองแผดเสียงด้วยความโกรธและเสียใจ

แล้วพ่อค้าทั้งคู่ก็ไปศาลให้ตุลาการตัดสิน พอตุลาการได้ฟังโจทก์และจำเลยกล่าวหากันก็คิดว่า

"อืม ! แก้ลำได้ดี คนหนึ่งคิดอุบายโกง อีกคนหนึ่งคิดอุบายแก้โกง"

ท่านตุลาการ จึงวินิฉัยชี้ขาดว่า

"การแก้อุบายโกงนั้นดีแล้ว ถ้าหากหนูกัดกินผาลไถได้ เหยี่ยวก็คาบคนไปได้เหมือนกัน เจ้าคนที่ลูกชายหาย จงคืนเงินค่าผาลไถให้เจ้าของ ถ้าไม่ส่งเจ้าก็คงไม่ได้ลูกคืน"

"ถ้าเขาคืนลูกชายให้ ข้าพเจ้าจะคืนเงินค่าผาลไถให้เขาทันที" พ่อค้าในเมือง กล่าวกับตุลาการ

"เป็นอันตกลง เขาคืนเงินค่าผาลไถให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็นำตัวลูกชายมาคืนเขา" พ่อค้าบ้านนอกกล่าว

พ่อค้าทั้งสองเอาเงินค่าผาลไถและลูกชายมาคืนให้กันต่อหน้าตุลาการ

มาชาติสุดท้าย พ่อค้าคนโกงได้เกิดมาเป็นพ่อค้าคนโกงอีก พ่อค้าบ้านนอกได้มาเกิดเป็นอุบาสก ส่วนตุลาการได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนโกงย่อมมีคนโกงตอบ คนล่อลองก็มีคนล่อลวงตอบ เหนือโจรยังมีโจร เหนือคนโกงยังมีคนโกง "เพราะว่าทุกอย่างเป็นของคู่กัน"



กากับนกเค้า นิทานชาดก

นิทานเรื่องนี้มาใน "อรุณชาดก ติกนิบาต"

ในสมัยเมื่อต้นกัป ทุกชีวิตมีฐานะมีสิทธิเท่าเทียมกัน ยังไม่มีกษัตริย์ ไม่มีผู้ปกครอง ไม่มีผู้นำ ส่วนส่วนของสัตว์ต่าง ๆ ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน แต่เมื่อกาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป วิถีชิวิตความเป็นอยู่ของคนและสัตว์ก็เปลี่ยนไป ทุกชีวิตจ้องเอาเปรียบกัน ไม่ให้เกียรติกัน ชิงดีชิงเด่นกัน ทำให้เกิดความวุ่นวายโกลาหลขึ้น

วันหนึ่งมวลหมู่มนุษย์ได้ประชุมปรึกษากันถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและหาแนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ต่างก็ถามกันว่า

"พวกเราควรเลือกผู้ใดผู้หนึ่งทำหน้าที่ปกครอง เพื่อให้เกิดสันติสุข" ผู้หนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุม

"แล้วพวกเราควรจะเลือกคนเช่นไร ให้เป็นประมุขละ!" ที่ประชุมปรึกษากัน และแล้วทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า

"พวกเราสมควรเลือกบุรุษผู้มี่มีรูปร่างงดงาม กิริยามารยาทดี เป็น "กษัตริย์" ผู้มีอำนาจปกครอง ตัดสินความพิพาทต่าง ๆ"

ฝ่ายสัตว์ที่อาศัยอยู่บนภาคพื้นดิน ก็ประชุมปรึกษากันแต่งตั้งให้ราชสีห์เป็น "เจ้าแห่งป่า"

ข้างฝ่ายหมู่มัจฉา ต่างก็พร้อมใจกันยกตำแหน่ง "พญา" ให้กับปลาอานนท์



ส่วนฝ่ายฝูงวิหค ได้ประชุมกันเพื่อหาผู้ปกครองฝูงวิหค ที่ประชุมได้เสนอนกเค้าเป็นประมุข

"ข้าเห็นด้วย...ข้าก็เห็นด้วย ... เหมาะสมข้าสนับสนุน" ต่างก็ส่งเสียงสนันสนุนกันแซ็งแซ่

"แต่ข้าไม่เห็นด้วย" เสียงหนึ่งสอดแทรกขึ้นในที่ประชุม สะกดให้นกทุกตัวเงียบกริบลงทันที แล้วต่างก็จ้องมองเจ้าของเสียงเป็นตาเดียวกัน

"อ้าว... ท่านกาทำไมถึงคัดค้าน ท่านมีเหตุผลอันใดหรือ" ที่ประชุมถาม

กาตัวนั้นจึงกล่าวขึ้นว่า

"ท่านทั้งหลาน พวกมนุษย์ได้เลือกเอาผู้มีรูปร่างงดงาม มีกิริยาดีงาม เป็นกษัตริย์ ฝูงสัตว์สี่เท้าได้เลือกเอาราชสีห์เป็นเจ้าป่า ฝูงปลาได้เลือกปลาอานนท์ เป็นพญา แต่เหตุไฉนพวกเราจึงพากันแต่งตั้งนกเค้าผู้มีหน้าตาน่ากลัวมาเป็นนายใหญ่ด้วย ข้าพเจ้าขอคัดค้าน ท่านทั้งหลายจงดูหน้านกเค้าเถิดขนาดไม่โกรธยังน่าเกลียดน่ากลัวขนาดนี้ ถ้าโกรธขึ้นมาจะน่ากลัวขนาดไหน"



เมื่อกากล่าวจบก็บินขึ้นไปสู่อากาศแล้วร้อง 3 ครั้งว่า

"ข้าไม่ชอบ ... ข้าไม่ชอบ ... ข้าไม่ชอบ ..."

ฝ่ายนกเค้าได้ยินเช่นนั้นก็โกรธไม่พอใจกา จึงบินไล่จิกตีกา กากับนกเค้าจึงไม่ถูกกันตั้งแต่นั้นมา และฝูงนกจึงตกลงใจแต่งตั้งหงส์ทองเป็น "พญา" ของพวกมัน




มาชาติสุดท้าย พญาหงส์ได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้นำ ผู้ปกครอง ถ้าเป็นผู้ที่พร้อมด้วย รูป กิริยามารยาท ย่อมเป็นที่พอใจของคนทั่วไป ส่วนผู้นำที่มีจิตใจต่ำทรามย่อมไม่มีใครปรารถนาจะให้มาเป็นผู้นำ




วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จับเมียเจ้าชู้ นิทานชาดก

คนที่ฉลาด มีไหวพริบ ปฏิภาณ ย่อมรู้ทันคนอื่น ไม่ถูกหลอกได้ง่าย ๆ คนที่ไม่ทันคนอื่นย่อมถูกหลอกอยู่ร่ำไป นิทานเรื่องนี้มาใน "คหปติชาดก ทุกนิบาต"

เมียของผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง เป็นผู้หญิงมักมากในกาม มีใจโลเลไม่ชื่อตรงต่อผู้เป็นผัว นางได้แอบเล่นชู้กับผู้ใหญ่บ้าน อยู่เสมอเมื่อมีโอกาส เมื่อผู้เป็นผัวทราบก็พยายามจับผิด

ในฤดูฝน ข้าวกล้ายังไม่ทันสุก ก็เกิดอาหารขาดแคลน ลูกบ้านจึงปรึกษากันว่า

"นี่ก็เหลืออีกตั้งเดือนหนึ่ง จึงจะได้เก็บเกี่ยว แต่ตอนนี้อาหารบ้านเรามันขาดแคลน พวกเราจะทำอย่างไรกันดี ใครมีข้อเสนอดี ๆ บ้าง"

"พวกเราควรไปขอวัวท่านผู้ใหญ่มาเป็นอาหาร เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วค่อยรวบรวมเอาข้าวเปลือกไปใช้หนี้แทนวัว" คนหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุม

"เออ...ดี ๆ...เออ...เข้าท่า ๆ..." เสียงสนับสนุนดังแซงแซ่

แล้วชาวบ้านก็พากันไปหาผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็สามารถตกลงกันได้ด้วยดี



ต่อมาวันหนึ่งชายผู้มีเมียเล่นชู้จึงคิดจะจับเมียชู้ให้ได้ จึงทำเป็นออกไปทำธุระข้างนอก เพื่อหลอกให้เมียตายใจ

ฝ่ายชายชู้ก็คอยโอกาสอยู่แล้ว จึงย่องเข้าไปในบ้าน เหมือนแมวจะขโมยกินปลาย่าง แล้วทั้งสองก็บรรเลงเพลงชู้กันอย่างสนุกสนานสุดเหวี่ยงในขณะที่นั่งพักอยู่นั้น ผู้เป็นเมียชำเลืองเห็นผู้เป็นผัว ซึ่งกำลังเดินเข้าประตูบ้านพอดีจึงรีบบอกชู้

"โอ้ย... แย่แน่ ๆ คราวนี้ จะทำอย่างไรดีนี่" ชายชู้ตกใจกลัวจนทำอะไรไม่ถูกหนีก็ไม่ทัน

"พี่ผู้ใหญ่ไม่ต้องกลัวหรอก ฉันมีวิธี" หญิงชู้กล่าว

"มีวิธีอะไร รีบว่ามาเลย เดี๋ยวไม่ทันการณ์" ชายชู้เร่ง

"คือพวกเราต่างก็ได้เอาเนื้อวัวของพี่ผู้ใหญ่มากิน พี่ผู้ใหญ่ก็ทำทีเป็นมาทวงหนี้ค่าเนื้อวัวสิ คือพี่ผู้ใหญ่ไปยืนกลางเรือน เดี๋ยวฉันจะไปยืนอยู่ที่ประตูยุ้งข้าว แล้วฉันจะร้องบอกพี่ผู้ใหญ่ว่าข้าวเปลือกไม่มี " หญิงชู้อธิบายยุทธวิธีหลอกผัวให้ชู้ฟัง

ผู้ใหญ่บ้านผู้บ้ากามก็ทำตามที่หญิงชู้แนะนำทันที

ผ่ายผู้มีทรัพย์แต่เมียมีชู้ พอเห็นกิริยาของคนทั้งสองก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นอุบาย จึงเดินเข้าไปพูดกับคนทั้งสองอย่างรู้ทันทีว่า

"เมื่อตอนที่ไปเอาเนื้อวัวมา เราก็ตกลงกันแล้วว่าเก็บเกี่ยวเสร็จถึงจะใช้หนี้ แต่ผู้ใหญ่มาก่อนกำหนด ต้องมาเพื่อจุดประสงค์อื่นแน่ ๆ อีนังเมียตัวดี มึงก็รู้ใช่ไหมว่าในยุ้งข้าวไม่มีข้าวเปลือก แล้วยังเสือกขึ้นไปนั่งอยู่ที่ประตูยุ้งข้าว แล้วร้องว่า ข้าวเปลือกไม่มีอีก ไอ้ผู้ใหญ่ การกระทำของแกกับหญิงบัดซบคนนี้ ข้ารุ้หมดแล้ว ข้าไม่ชอบเลยจริง ๆ แกทำได้อย่างไรกัน พวกแกไม่อายชาวบ้านเขาบ้างเลยหรือ ข้าอดสูใจเหลือเกิน"

เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว เขาก็ได้บรรเลงเพลงแม่ไม้มวยไทยใส่ผู้ใหญ่บ้าน จนล้มลุกคลุกคลาน และได้บรรเลงเพลงตบใส่เมียชั่วจนระบม ด้วยความโกรธแค้นที่ถูกสวมเขา

มาชาติสุดท้าย ชายมีทรัพย์เมียมีชู้ ได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่ทำผิดย่อมมีพิรุธให้เห็นอยู่เสมอ ถึงจะมีอุบายอย่างไรก็ตาม ย่อมแสดงพิรุธออกมาให้เห็น การเล่นชู้ คบชู้เช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าละอายเป็นที่สุด เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆาตกรรม โทษของมันไม่ต้องรอถึงชาติหน้า



ฤาษีสอนลูก นิทานชาดก

ความเป็นพ่อลูกกันที่สมบูรณ์นั้น มิใช่เป็นได้ง่าย ๆ ต้องประกอบด้วยคุณธรรมที่สำคัญ คือต้องแนะนำพร่ำสอนศิลปะการใช้ชีวิต แนะนำศาสตร์การดำเนินชีวิต มอบทรัพย์มรดกให้ และหาคู่ครองให้เมื่อถึงกาลอันควร เมื่อทำได้เช่นนี้จึงเรียกว่า "พ่อ" ดังนิทานใน "อรัญญชาดก จตุกนิบาต" ที่โบราณาจารย์ท่านเล่าสืบต่อกันมา ดังนี้

กาลครั้งอดีตที่ล่วงเลยมา ครอบครัวหนึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข พ่อ แม่ และลูกชาย ต่างก็ทำหน้าที่ของตนอย่างไม่บกพร่อง เมื่อลูกชายเจริญวัย ผู้เป็นแม่ก็ด่วนจากไปอย่างกระทันหัน สองพ่อลูกจัดการงานศพเรียบร้อยแล้วพากันออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่า มีเผือกมัน และผลไม้ต่าง ๆ เป็นอาหาร ฤาษีสองพ่อลูก ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างมีความสุข

ต่อมาวันหนึ่ง ฤาษีผู้เป็นพ่อ ได้สั่งลูกก่อนเข้าป่าหาอาหารว่า

"วันนี้พ่อต้องไปไกล ลูกอยู่เฝ้าบรรณศาลาอย่าได้เที่ยวไปที่อื่นละ"

ในวันนั้นเอง โจรได้เข้าปล้นหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กวาดต้อนเอาคนไปเป็นเชลย มีหญิงสาวคนหนึ่งได้หลบหนีเข้าป่าไปจนถึงบรรณศาลาแห่งนั้น ฤาษีหนุ่มเห็นหญิงสาว หญิงสาวก็เห็นฤาษีหนุ่ม เลือดกายก็ร้อนเร่า ไฟราคะลุกเผา ผลาญจิตใจของหนุ่มสาวทั้งคู่ พวกเขาจึงได้เสียกันด้วยความเต็มใจทั้งสองผ่าย

"พี่ ! มาเถาะเราหนีไปอยู่ด้วยกัน" หญิงสาวกล่าวชวน

"เดี่ยวก่อน ขอให้พี่พบพ่อก่อน" ชายหนุ่มแบ่งรับแบ่งสู้

"ถ้าเช่นนั้น เมื่อพี่พบพ่อแล้ว ไปหาฉันที่หมู่บ้านโน้นนะ" หญิงสาวกล่าว แล้วจากไป คอยอยู่ในที่ที่ตกลงนัดหมายกันไว้

เมื่อฤาษีผู้เป็นพ่อกลับมา ฤาษีหนุ่มผู้ถูกความรักความใคร่ทำลายศีล จึงถามพ่อทันที

"พ่อครับ! ถ้าผมออกจากป่าไปอยู่ถิ่นชาวบ้าน ควรจะคบหาคนเช่นใด มีชาติตระกูล มีกิริยาเช่นใดครับ ..."

"ลูกเอ๋ย ... ผู้ใดคบหาสมาคมกับลูก เชื่อถ้อยคำของลูก เมื่อลูกผิดเขายกโทษให้ลูก เมื่อลูกไปจากป่านี้แล้วจงคบกับคนเช่นนั้นเถิด" ฤาษีผู้เป็นพ่อกล่าว แล้วสอนลูกด้วยความห่วงใยว่า

"ลูกพ่อ คนเรามันเดาใจยาก รู้หน้าแต่ไม่รู้ชัดถึงจิตใจ จิตใจคนมันกลับกลอกเหมือนลิง วันนี้รัก พรุ่งนี้ก็ลืม คิดดูให้ดี ๆ นะลูกนะ"

เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ฤาษีหนุ่มผู้กลุ้มรัก ก็ถึงกับอึ้งไป เพราะไม่เห็นทางที่จะหาคนเช่นนั้นได้เลย จึงกล่าวกับฤาษีผู้พ่อว่า

"โอ้พ่อ! คนที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ จะหาได้จากที่ไหนละครับ มันยากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาเสียอีก"

ฤาษีหนุ่มจึงตัดสินใจอยู่้กับพ่อ ไม่ไปหาหญิงสาวตามที่ได้นัดหมายกันไว้ มาชาติสุดท้าย ฤาษีกุมาร ได้มาเกิดเป็นหญิงสาว ฤาษีผูเป็นพ่อ ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า พ่อที่ดีต้องบากบั่น พากเพียรพยายามเลี้ยงลูกอย่างดี คอยแนะนำพร่ำสอน คอยห้ามปรามไม่ให้ลูกทำชั่ว เป็นต้น พ่อที่ทำตัวได้เช่นนี้เรียกว่า "พ่อพระ" พวกเราอยากเป็นพ่อประเภทไหน ก็เชิญเลือกเอาเถิด

ฤาษีเลี้ยงช้าง นิทานชาดก

คนว่ายาก สอนยาก ใครเตือนก็ไม่ฟัง ทำตามใจตนเอง โดยไม่คิดถึงคำเตือนของผู้อื่น ผู้นั้นมักฉิบหาย ดังนิทานใน "อินทสมานโคตชาดก ทุกนิบาท" เรื่องต่อไปนี้

ณ ท่ามกลางป่าอันสงบร่มเย็น มีต้นไม้และลำธารอันอุดมสมบูรณ์ ฤาษีตนหนึ่งปลูกอาศรมอยู่ไม่ห่างจากลำธารมากนัก บำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่อย่างสงบสุข และมีคนมาบวชเป็นศิษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งฤาษีก็สอนให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติตนออกนอกลู่นอกทาง ไม่มุสา ไม่เสพของมึนเมาทุกชนิด ซึ่งลูกศิษย์ทุกคนต่างปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด

ต่อมามีชายหนุ่มคนหนึ่งนามว่า "อินทสมาน" มาขอบวชเป็นลูกศิษย์อยู่ด้วย แรก ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอนาน ๆ ไป ฤาษี
อินทสมานเริ่มแก่วัด จึงออกลวดลาย อาจารย์ว่ากล่าวตักเตือนอะไรเขาก็ไม่ยอมฟัง จะโต้เถียงแย้งอาจารย์ไปข้าง ๆ คู ๆ แต่อาจารย์ก็ไม่ว่าอะไร เพราะคิดว่า "ไม่คุ้มเสีย"

จำเนียรกาลต่อมาฤาษี
อินทสมาน ได้นำเอาลูกช้างมาลี้ยงในอาศรมฝ่ายอาจารย์รู้เรื่องก็รีบเข้าไปกล่าวตักเตือน



"
อินทสมาน การเอาลูกช้างมาเลี้ยงไว้มันก็ดีอยู่ แต่เราไม่ใช่ควาญช้าง เราเป็นฤาษี จะเลี้ยงให้มันเชื่องได้อย่างไรหรือ เกิดมันเป็นสัตว์ดุร้าย มันจะเป็นภัยต่อตัวเองนะ เราเป็นฤาษีควรจะบำเพ็ญเพียรภาวนา มากกว่าหาอะไรมาผูกมัดตัวเองเช่นที่เธอกำลังทำอยู่นี่"

"อาจารย์ครับ สงสารมันนะ กลัวมันไม่มีอะไรกินอย่างเพียงพอ" ฤาษี
อินทสมานแย้งอาจารย์

"
อินทสมาน ธรรมดาช้างมันอยู่ป่าซึ่งอุดมสมบูรณ์ มันคงไม่อดตายหรอกนะ ควรปล่อยให้มันไปอยู่ป่าเสีย" อาจารย์ยังกล่าวเตือนสติของลูกศิษย์

"อาจารย์ ... ผมอยากเลี้ยงไว้ดูเล่น ไหน ๆ ก็เลี้ยงมันแล้ว นึกว่าสงสารมัน" ลูกศิษย์หัวดื้อไม่ยอมฟังอาจารย์ เถียงไปข้าง ๆ คู ๆ

ฤาษี ผู้เป็นอาจารย์ไม่ว่าอะไรอีก และได้เดินหนีไปจากที่นั่น ฝ่ายฤาษี
อินทสมาน ก็ยังคงเลี้ยงลูกช้างต่อไป

ต่อมาคราวหนึ่ง ฤาษี
อินทสมานได้เข้าป่าลึกไปหาผลไม้กับลูกศิษย์คนอื่น ๆ เป็นเวลาถึง 3 วัน ปล่อยให้ช้างอดอาหารอยู่ที่อาศรม จนเกิดอาการคลุ้มคลั่ง

"โอ้ยหิว ฤาษีชั่วปล่อยให้เราหิวจนแสบไส้ เดี๋ยวต้องจัดการให้สาสม"

เมื่อคิดเช่นนั้นแล้ว ช้างหิวก็ทำลายเครื่องใช้สอยของฤาษีจนหมดสิ้น แล้วก็ออกไปคอยดักทางของฤาษี ด้วยจิตหวังร้าย

ฝ่ายฤาษี พอได้ผลไม้ตามที่ต้องการแล้ว ก็พากัันกลับมาที่อาศรมเจ้าช้างหิวก็แอบอยู่ข้างทางด้วยหวังจะกำจัดฤาษีหนุ่มผู้ที่ทำให้ตนหิวโหย เมื่อได้โอกาสเหมาะมันก็แล่นออกจากที่ซ่อน ตรงเข้าไป เอางวงรัดฤาษีหนุ่มแล้วฟาดกับพื้นจนถึงแก่ความตาย แล้ววิ่งเตลิดหนีเข้าป่าไป
ผ่ายลูกศิษย์ได้ไปหาอาจารย์แล้วเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้อาจารย์ฟังอย่างละเอียด อาจารย์จึงยกอุทาหรณ์สอนลูกศิษย์ว่า

"การคบกับคนพาลนั้น ย่อมนำอันตรายมาให้อย่างแน่นอน เป็นคนไม่ควรดื้อดึงต่อคำแนะนำสั่งสอนของครูอาจารย์ และนักปราชญ์ ควรทำตัวเป็นคนว่านอนสอนง่าย "


มาชาติสุดท้าย ฤาษีว่ายากได้เกิดเป็นภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง ส่วนอาจารย์ได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่ได้ชื่อว่า "นักเรียน นักศึกษา" ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ สู้อุตสาห์แนะนำพร่ำสอน แต่ไม่ยอมเชื่อฟังหนีเรียนเที่ยวห้างสรรพสินค้า เที่ยวผับ เที่ยวบาร์ สร้างความเสื่มเสียต่อวงศ์ตระกูล และสุดท้ายก็กลายเป็น "ขยะสังคม"

มนต์ปลุกเสือ นิทานชาดก

คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ รู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วก็อวดฉลาด เมื่อเจอเหตุร้ายย่อมเอาตัวไม่รอด นิทานเรื่องนี้มาใน "สัญชีวชาดก เอกนิบาต"

เมื่อครั้งอดีตกาลที่ผันผ่านมา ณ เมืองพาราณาสี มีสำนักของอาจารย์ผู้ทิศาปาโมกข์ (แปลว่า อาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง
) คนหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังขจรขจาย ลูกเจ้าหลานเธอทั้งหลายรวมทั้งเศรษฐีคนมีตังค์ทั้งหลาย ต่างก็ส่งบุตรหลานไปศึกษาเล่าเรียนยังสำนักของอาจารย์ผู้ทิศาปาโมกข์

เศรษฐีชาวเมืองพาราณาสีคนหนึ่ง มีลูกชายคนหนึ่งนามว่า "สัญชีวมาณพ" พอเจริญวัยขึ้น เศรษฐีผู้เป็นพ่อก็ปรารถนาให้ลูกชายได้เล่าเรียนเพื่อจะได้มีวิชาความรู้รักษาวงศ์ตระกูลสืบต่อไป

วันรุ่งขึ้น
เศรษฐีก็นำลูกชายไปฝากเป็นศิษย์ของอาจารย์ อาจารย์ทิศาปาโมกข์พอได้เห็นลักษณะของสัญชีวมาณพ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นคนฉลาด จึงรับไว้เป็นศิษย์ สัญชีวมาณพเป็นศิษย์ที่ดี ตั้งอกตั้งใจเล่าเรียน ท่องบ่นตามที่อาจารย์มอบ อาจารย์สั่งด้วยความเคารพ จึงปรากฏว่าเขาเรียนได้เร็วกว่าศิษย์คนอื่น ๆ อาจารย์ทิศปาโมกข์จึงเอ่ยปากชมต่อหน้าลูกศิษย์คนอื่น ๆ ตั้ง 500 คนว่า

"สัญชีวมาณพ เป็นคนขยันและตั้งใจเรียนเป็นอย่างดี ทั้งเป็นคนว่าง่าย สอนง่าย ไม่ขี้เกียจ สมควรที่จะเอาเป็นแบบอย่าง"

สัญชีวมาณพรุ้สึกปรื้มยิ่งนัก จึงตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเต็มที่ ทั้งอาจารย์ผู้ทิศาปาโมกข์ก็หวังว่าสัญชีวมาณพคงจะเป็นตัวแทนของตน เมื่อตนตายไป จึงถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ จนหมดสิ้น และได้สอนมนต์ "มนต์ชุบชีวิต" ปลุกสัตว์ที่ตายให้พื้น ซึ่งไม่เคยสอนให้แก่ใครเลย



ในกาลต่อมา สัญชีวมาณพใคร่จะทดลองวิชาที่ได้เล่าเรียนมา วันหนึ่ง เขาได้เข้าไปในป่าหาพืนกับศิษย์คนอื่น ๆ บังเอิญได้เจอซากเสือโคร่งตัวหนึ่ง เขาจึงพูดกับเพื่อน ๆ ว่า

"ใครอยากดูบ้าง นี่เราจะชุบชีวิตเสือโคร่ง อยากดูเป็นบุญตามั้ย !"

"อยากดู ...อยากดู..." เสียงเพื่อน ๆ ตอบรับพร้อมกันจนดังเซ่งแซ่


"เพื่อความปลอดภัย ขอให้ทุกคนขึ้นต้นไม้ให้สูงพอสมควร" สัญชีวมาณพบอกกับเพื่อน ๆ ส่วนตัวเองก็นั่งลงไกล้ ๆ ซากเสือโคร่ง แล้วเริ่มสาธยายมนต์ เมื่อเสร็จกระบวนพิธีจึงซัดก้อนกรวดก้อนหนึ่งไปยังซากเสือโคร่ง ชั่วครู่เดียวมันก็ลุกขึ้น และกระโจนเข้าตะปบสัญชีวมาณพ จนถึงแก่ความตาย

เพื่อน ๆ ต่างก็ตกตะลึงต่อเหตุการณ์ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีแล้วจึงพากันรีบลงจากต้นไม้เดินมุ่งหน้าสู่สำนัก และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้อาจารย์ฟังอย่างละเอียด

"ช่างน่าเสียดายแท้ สัญชีวมาณพเป็นคนฉลาดและมีปัญญาดี แต่ขาดความรอบคอบไปหน่อย ยังไม่ได้เรียนมนต์แก้เลย ตัวเองจึงต้องพบกับความตาย" อาจารย์กล่าวด้วยความรู้สึกเสียดาย เสียใจที่ศิษย์รักมีอันเป็นไป และได้กล่าวเตือนลุกศิษย์ทั้งหลายว่า

"การคบกับคนชั่ว อันธพาลสันดาลหยาบ ย่อมจะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เหมือนกับสัญชีวมาณพที่ตายเพราะเสียโคร่งฉะนั้น"

มาชาติสุดท้าย
สัญชีวมาณพ ได้เกิดเป็นพระเจ้าอชาตศัตรู อาจารย์ผู้ทิศาปาโมกข์ ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การทำอะไรก็ตามหากขาดความระมัดระวังรอบคอบ ผลเสียย่อมจะเกิดตามมาอย่างแน่นอน การคบกัยคนเลว อันธพาลสันดาลชั่ว ก็จะทำให้ตนเองพลอยเดือดร้อนไปด้วย คบคนเช่นใดก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ดังสุภาษิตโบราณที่ว่า

"คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัญฑิตพาไปหาผล"


วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หงส์หามกา

คนที่ไม่เจียมตัว ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง พูดอวดอ้างตนเอง ย่อมทำให้ตนเองพบกับความต้อยต่ำ นินทานเรื่องนี้มาจาก "วินีลกชาดก ทุกนิบาต"



กาลเมื่อครั้งในอดีตที่ผ่านมา กลางป่าใหญ่แห่งหนึ่ง มีพญาหงส์ตัวหนึ่ง อาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ อันเปรียบดังทิพยวิมาณ พญาหงส์มีนางหงส์ตัวหนึ่งเป็นเมีย แต่มิเพียงเท่านั้น พญาหงส์ยังแอบมีสัมพันธ์กับนางกา ซึ่งอยู่ในป่าไกลออกไปอีกด้วย

วันเวลาผ่านพ้นไป นางหงส์ก็ให้กำเนิดลูก 2 ตัว ผ่ายนางกาก็ให้ลูกตัวหนึ่ง แต่ลูกนางกา ซึ่งมีพญาหงส์เป็นพ่อ ไม่ได้มีสีดำเหมือนกาทั่วไป มันมีขนสีเขียวมันวาว นางกาจึงตั้งชื่อให้ลูกตัวเองว่า "วินิลกะ"



จำเนียรกาลต่อมา พญาหงส์พิจารณาเห็นว่าลูกกานั้นอยู่ไกล อาหารไม่อุดมสมบูรณ์ และยังกันดารอีกด้วย จึงคิดที่จะนำมาอยู่ด้วย คิดเช่นนั้นจึงปรึกษากับลูกทั้งสองว่า

"ลูกรัก น้องของเจ้าที่เกิดกับนางกา อยู่ไกลในที่กันดาร อาหารก็ขาดแคลน ถ้าเรานำเขามาอยู่ด้วยชีวิตเขาก็จะมีความสุขขึ้น ลูกเห็นว่าเป็นยังไง"

"แล้วแต่พ่อเถอะ แต่ก็ดีเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยลูกกาก็เป็นลูกพ่อ ก็เหมือนกับเป็นน้องของลูกด้วย" หงส์หนุ่มทั้งสอง ตอบพ่ออย่างจริงใจ

"ถ้าลูกไม่รังเกียจน้อง ก็จงไปนำเขามาอยู่กับเราด้วยกันเถิด" พญาหงส์กล่าวสรุป
ลูกหงส์ทั้งคู่จึงบินบ่ายหน้าสู่ที่อยู่ของกา เมื่อไปถึงรังของกา จึงกล่าวชวนว่า

"น้องพี่... พ่อของเราเห็นว่าน้องอยู่ห่างไกล และกันดาร อาหารก็ไม่สมบูรณ์ สู้ทางโน้นไม่ได้ พ่อจึงให้พี่ทั้งสองมารับ"

"วิเศษเลยพี่ พวกเราจะได้อยู่ด้วยกัน" ลูกกา (วินีลกะ) กล่าวด้วยความดีใจอย่างออกนอกหน้า

"ถ้าเช่นนั้น น้องจงเกาะที่กิ่งไม้นี้ให้แน่น ๆ เดี๋ยวพี่จะพาไป" หงส์ตัวหนึ่งกล่าว พร้อมยื่นกิ่งไม้ขนาดพอเหมาะให้วินีลกะจับ และตัวเองก็จับตัวละข้าง พาวินิลกะบินข้ามเมืองแห่งหนึ่งไป

ในขณะนั้น ในเมืองมิถิลากำลังมีงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ พระเจ้ามิถิลาทรงรถเลียบเมือง สองฝากถนนเต็มไปด้วยชาวประชา ที่มาเฝ้าชมพระบารมี เจ้าวินีลกะมองเห็นเช่นนั้น ก็พูดด้วยความคึกคะนองว่า

"หงส์สองตัวหามเราไป เหมือนม้าอาชาไนย คู่เทียมรถนำเจ้าเมืองเลียบเมืองฉะนั้น"

"ไอ้กาปากหมา เอ็งไม่เจียมตัวเลยนะ" หงส์ทั้งสองได้ฟังก็รู้สึกโกรธคิดจะปล่อยทิ้งก็เกรงใจพ่อ จึงจำใจนำไปจนถึงรัง แล้วก็เล่าเรื่องให้พญาหงส์ฟังโดยตลอด

พญาหงส์ได้ฟังก็โกรธยิ่งนัก ที่ลูกกามิได้เจียมตัวเลย จึงไล่กลับถิ่นฐานเดิม โดยหงส์ทั้งคู่ไปส่ง

"ไอ้เจ้านีลกะ! แม้เจ้าจะเป็นลูกข้า แต่เจ้าไม่เจียมตัวเลย เจ้าอย่ามาอยู่ในป่านี้เลย จงกลับไปยังถิ่นเดิมของเจ้าเสียเถิด"

ชาติสุดท้าย พญาหงส์ ได้เกิดมาเป็นพระอานนท์ ลูกหงส์ได้เกิดเป็นอัครสาวก กาวินีลกะได้เกิดเป็นพระเทวทัต ส่วนพระเจ้ามิถิลา ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนเราแม้จะมีพ่อเป็นใหญ่เป็นโต แต่ไม่เจียมตัว เที่ยวอวดอ้าง เที่ยวเบ่ง "พ่อกูใหญ่" ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ก็จะเป็นเช่นเดียวกับวินีลกะ การเจียมตัว อ่อนน้อมถ่อมตนไม่อวดเก่ง ไม่ข่มเหงผู้อื่น ย่อมจะเป็นที่เจริญใจของผู้อื่น "อ่อนน้อมถ่อมตนสร้างคนให้เป็นใหญ่"