วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จิ้งจอกเจ้าปัญญา - นิทานชาดก ก่อนนอน

การรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะลงมือทำอะไร ย่อมสามารถป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นเพราะความประมาท เลินเล่อได้ นิทานเรื่องนี้มาใน "สิงคารชาดก เอกนิบาท"

ณ ท่ามกลางป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ต้นไม้น้อยใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา สร้างความร่มรี่น สุนัขจิ้งจอกฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้อย่างมีความสุข โดยไม่มีคนมาเบียดเบียน



แต่แล้ว! สิ่งที่เป็นมหันตภัยก็ได้เกิดขึ้น วันหนึ่งในตัวเมืองมีการจัดงานมหรสพกันอย่างสนุกสนาน บรรดาคอสุราจึงพากันตั้งวงสังสรรค์กันอย่างสนุกสนานตามประสาขี้เมา

"เอ้ย! ไปเอาเนื้อย่างมาหน่อยโว้ย กินเหล้าไม่มีกับแกล้ม ระวังท่านยมบาลตีกระบาลเอานะโว้ย ฮ่า ๆๆๆ ..." ขี้เมาคนหนึ่งพูดท่ามกลางวง

"ส.จ. เสียใจว่ะเพื่อน เหลือแต่หม้อ เอาหม้อย่างมั้ย! " อีกคนซึ่งนั่งใกล้หม้อตอบล้อเพื่อน


"หมดแล้วหรือ! ได้ไงวะ กินเหล้าไม่มีกับแกล้ม มันก็เหมือนกับนอนกับเมียไม่ได้กอดซิวะ" คนขี้เมาคนแรกโวยวาย อ้างสำนวนขี้เมาอย่างโหลยโท่ย

"ก็มันหมดนี่หว่า ... ย่างหม้อแกล้มเหล้าไปก่อนแล้วกัน" อีกคนก็ยืนยัน

"ไม่ได้! เดียวข้าจัดการเอง พวกเอ็งรออยูนี่ละ ไม่นานต้องมีกับแกล้มแน่นอน" ขี้เมาคนแรกบอก เขาจึงลุกขึ้นจากวงมุ่งหน้าสู่ป่าใหญ่ด้วยหมายจะเอาเนื้อสุนัขจิ้งจอกมาเป็นกับแกล้ม เมื่อเข้าไปในป่า ก็คิดหาอุบายกัดการกับสุนัขจิ้งจอกทันที

"ถ้าเราเดินพล่านอยู่เช่นนี้ ไม่มีทางได้กับแกล้มแน่ เดี๋ยวเราต้องหลอกมันซะหน่อย" คิดแล้ว เขาแกล้งนอนตาย โดยมือกำท่อนไม้ไว้ เมื่อจิ้งจอกเข้ามาได้ระยะจะฟาดให้ตายในทีเดียว

อีกครู่ใหญ่ สุนัขจิ้งจอกฝูงหนึ่งก็เดินผ่านมา พอเห็นคนนอนตาย จึงพากันจะเข้าไปกินเนื้อคนเป็นอาหาร

"โอ้ ... ลาภปากเหลือหลาย มีคนตายอยู่ตรงนั้น เอ้า พวกเรา! ลุย..."
"เอ้ย! ช้าก่อน พวกเราสังเกตให้ดีเห็นไหม...นั่นมันนอนกำท่อนไม้ไว้แน่นเลย ข้าจะพิสูจน์ให้ดู" จ่าฝูงเตือนสมุนแล้วเดินไปหาชายชี้เหล้าอย่างระมัดระวัง โดยเดินไปใต้ลม พอได้ระยะก็ได้สัมผัสกับสมหายใจอุ่น ๆ ที่มาตามกระแสลม จึงกล่าวขึ้นว่า

"นี่พวกเจ้ายังโชคดี ที่ไม่ป่มบ่ามเข้าไป ไม่เช่นนั้นตายแน่ ๆ เพราะไอ้หมอนี่มันยังไม่ตาย"

จ่าฝูงพูดจบย่องเข้าไปคาบดึงเอาปลายท่อนไม้ออกมา แต่ชายขี้เมารีบดึงกลับทันที เจ้าสุนัขจิ้งจอกจึงกล่าวกับชายชี้เหล้าว่า

"นี่เจ้า! เจ้ามานอนแกล้งตายเพื่อหลอกผู้อื่นทำไมหรือ ..."

"ก็ข้าต้องการเนื้อเจ้าไปทำกับแกล้มนะสิ เจ้าจิ้งจอกหน้าโง่" ชายขี้เหล้ากล่าวด้วยฤทธิ์แห่งดีกรี แล้วก็คว้างท่อนไม้หมายจะให้ถูกเจ้าสุนัขติ้งจอก แต่ไม่เป็นไปตามที่ใจต้องการ ทำให้เขาโมโห ซ้ำสุนขจิ้งจอกวิ่งหนีไปไกลอีกด้วย

"เออ ... วันนี้ฆ่าไม่ได้ วันหน้าก็มี วันพระไม่ได้มีวันเดียวหรอก"

"เจ้านี่ช่างอาฆาตเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่เรามิได้ทำอะไรให้ ระวังด้วยนะ อย่าเอาชีวิตชั่ว ๆ ไปทิ้งซะก่อนะ มาล่าข้าให้ได้ก่อน" สุนัขจิ้งจอกเยาะเย้ยอย่างสนุก

ชายขี้เมา ไม่ตอบโต้ เดินกลับด้วยความผิดหวัง โดยมีความโมโหเป็นรางวัล มาชาติสุดท้าย นักเลงสุรามาเกิดเป็นพระเทวทัต สุนักจิ้งจอกจ่าฝูงได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไปจงพิจารณาให้ถี่ถ้วน ตรวจสอบผลดี ผลเสีย ให้รอบคอบ อย่าเชื่ออะไรง่ายโดยไม่พิจารณา อย่าเชื่อในกลอุบาย คนอื่นโดยไม่พิจารณาโดยเด็ดขาด "การจะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบเสีียก่อน จึงจะรักษาตัวรอดปลอดภัย"





วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โง่หรือฉลาด - นิทานชาดก ก่อนนอน

นิทานเรื่ิองนี้มาใน "กปายกฏฐิชาดก ทุกนิบาต"

ณ ชายแดนเมืองพาราณสี ของพระเจ้าพรหมทัต เกิดกลุ่มโจรร้ายออกอาละวาดเที่ยวปล้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่อาณาประชาราษฎร์อย่างเหลือคณานับ ทหารรักษาชายแดนได้เข้าเฝ้ากราบทูลถวายรายงานว่า

"ขอเดชะ บัดนี้ชายแดนเกิดความเดือดร้อนหนัก" ด้วยมีโจรกลุ่มหนึ่งไม่เกรงพระราชอาญา ได้พากันไปเทียวปล้น ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส ทหารรักษาดินแดนก็มิอาจจะต่อกรกับโจรกลุ่มนี้ได้ ขอพระองค์โปรดเสด็จไปดับทุกข์เข็ญด้วยเถิดพระเจ้าค่ะ"

"บังอาจมาก! ไอ้โจรกลุ่มนี้ มันหมิ่นพระราชานุภาพของเรา ท่านอำมาตย์ท่านจงไปจัดทัพให้พร้อม เราจะไปจัดการดับอหังการกลุ่มโจร" พระเจ้าพรหมทัต ทรงพิโรจน์และได้รับสั่งเสนาบดีให้เตรียมทัพ

เมื่อทุกอย่างพร้อม กระบวนทัพจึงได้ฤกษ์ออกเดินสู่ชายแดน พระเจ้าพรหมทัต รับสั่งให้หยุดพักเป็นระยะ เพราะหนทางที่ยกทัพไปนั้นไกลพอสมควรและทรงเกรงว่ากำลังพลจะเหนื่อยล้าเกินไป

ในเวลาหยุดพัก ณ ที่แห่งหนึ่ง พวกทหารเสบียง พวกทหารเสบียงได้นึ่งถั่วราชมาศใส่ไว้ในรางอาหารม้า มีลิงตัวหนึ่งแอบดูอยู่บนต้นไม้ มันเห็นว่าเป็นถั่วก็เกิดอยากกินขึ้นมาทันที



พอพวกทหารเผลอ เจ้าลิงก็ปีนจากต้นไม้อย่างรวดเร็ว คว้าเอาถั่วใส่ปากจนเต็มแก้ม 2 ข้างแล้วก็กำจนเต็มมือ 2 มือ รีบปีนไปบนต้นไม้ทันที

ด้วยความบังเอิญ เมื่อลิงขึ้นไปนั่งอยู่บนต้นไม้ มันทำถั่วราชมาศหลุดมือเม็ดหนึ่ง เจ้าลิงเกิดความเสียดายถั่วเม็ดนั้นมาก จึงคายถั่วในปาก และหว่านถั่วในกำมือทิ้ง แล้วรีบปีนลงจากต้นไม้เพื่อมาหาถั่วเมล็ดนั้น

แต่ไม่ว่ามันจะพยายามหาอย่างไรก็ไม่พบ จนอ่อนใจ ปีนขี้นไปนั่งเจ่าอยู่บนต้นไม้ พระเจ้าพรหมทัตเสด็จมาพบเข้า ทรงเห็นลิงมีอาการหงอยเศร้าซึม ทรงปริืวิตก (กังวล) ว่า จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับพระองค์ จึงรับสั่งให้ราชครูเข้าเฝ้า

"ท่านราชครู ลิงตัวนี้มันดูซึม ๆ มันจะเป็นลางร้านแก่เราไหม!"
ราชครูได้กำหนดตรวจตรา อย่างละเอียดทุกแง่มุม จึงกลาบทูลว่า

"ขอเดชะ เจ้าลิงตัวนั้นมันซึมเศร้าเพราะความโง่ของมัน มันขโมยถั่วราชมาศสำหรับมาจนเต็มแก้มทั้งสองข้าง และกำเอาจนเต็มมือ แล้วปีนขึ้นไปบนต้นไม้ บังเอิญถั่วเมล็ดหนึ่งหล่นจากมือมัน มันจึงทิ้งถั่วที่เหลือทั้งหมด แล้วลงมาหาถั่วเมล็ดนั้น แต่หาอย่างไรก็ไม่พบ มันจึงซึใเศร้า พระเจ้าค่ะ "

"เออแน่ะ ... เจ้าลิงมันอับปัญญาเอาของมากมาแลกของเพียงน้อยนิด ตัวเราขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน เรายกทัพใหญ่เพื่อไปปราบโจรกระจอกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเหมือนเอาพิมเสนไปแลกเกลือ ซ้ำร้ายนี่ก็เข้าสู่ฤดูฝนแล้วการเดินทางก็ลำบาก ผลคงไม่คุ้มอย่างแน่นอน เหมือนลิงตัวนี้ที่เอาของมากมาแลกของเพียงนิดเดียว" พระเจ้าพรหมทัตได้สดับการถวายวิสัชชนา ก็ทรงใคร่ครวญด้วยพระสติปัญญาของพระองค์ เมื่องทรงเห็นว่า "ไม่คุ้ม" จึงรับสั่งให้ถอนทัพกลับพระนคร

ฝ่ายโจรชายแดน ได้ยินข่าวว่าพระเจ้าพรหมทัตยกทัพมาปราบต่างก็เกรงพระราชอาญาจึงพากันแตกหนีกระจัดกระจาย ชายแดนสงบสันติสุขอีกครั้ง


มาชาติสุดท้าย พระเจ้าพรหมทัตเกิดเป็นพระอานนท์ ราชครูได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนโง่เขลาเบาปัญญาย่อมไม่รู้ว่าสิ่งใดไม่ควร บางทีอาจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปโดยขาดปัญญา อันจะนำผลเสียมาให้อย่างมากมาย เหมือนลิงโง่ดังกล่าว หากเป็นเช่นนี้ ก็เข้าข่ายว่า "โง่แต่อวดฉลาด" ก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป ต้องคิดถึงความเหมาะสม สิ่งใหนทำแล้วตนไม่เดือดร้อน ไม่เบียดเบียนคนอื่น สิ่งนั้นเหละสมควร งานเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าได้เอากำลังส่วนมากทุ่มใส่ จะเข้าสุภาษิตไทยที่ว่า "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"

กาวิดน้ำ

การรำพึงถึงสิ่งที่สูยหายไปแล้ว การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยปราศจากความรอบรู้ ไม่รู้จักประมาณตน ประมาณงาน ย่อมจะเหนื่อยเปล่า ไม่เกิดประโยชน์อันใด อยู่ใน "กาชาดก เอกวิบาต"



เมื่อครั้งอดีตกาล ณ ริมฝั่งมหาสมุทรอันอุดมสมบูรณ์ มีกา 2 ผัวเมียอาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งริมฝั่งมหาสมุทร อย่างสุขสำราญ ด้วยมีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์
กินอย่างอิ่มหมีพีมันอยู่ทุกวี่วัน

ณ วันหนึ่งชาวบ้านได้พากันรำลึกนึกถึงบุญคุณของพญานาค ที่ได้ช่วยบรรดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าได้ผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้พร้อมใจกันจัดพิธีบวงสรวงพญานาค ในพิธีนั้นชาวบ้านต่างพากันนำอาหารอันรสเลิศนานาชนิดมาบวงสรวง

"โอ้โห! วันนี้ช่างเป็นลาภปากอย่างเหลือหลาย น้องรัก ...ดูสิ อาหารดี ๆ ทั้งนั้น " กาผู้เป็นผัวกล่าวกับนางกาด้วยน้ำลายสอ

แล้วกาทั้งสองก็พากันบนลงไปกินเครื่องบวงสรวงอย่างสุขสำราญและเมื่ออิ่มหนำแล้วก็พากันบินกลับรัง แต่นางกาเกิดอยากเล่นน้ำ จึงชวนกาตัวผัวไปเล่นน้ำทะเล



ในขณะที่กาทั้งคู่เล่นน้ำอย่างเพลิดเพลิน พลันคลื่นลูกใหญ่ซัดเข้าใส่เต็มเปา นางกาไม่ทันระวังตัวจึงถูกคลื่นกลืนลงสู่ท้องมหาสมุทรทันที

"โธ่! เมียรักของพี่ ... พี่ขาดเธอไป พี่จะอยู่อย่างไร" กาผู้เป็นผัว เมื่อเห็นเมียรักถูกคลื่นซัดจมหายไปต่อหน้าต่อตา ก็สุดที่จะกลั้นความเศร้าเสียใจเอาไว้ได้

กาทั้งหนุ่มสาว ทั้งแก่เฒ่า เมื่อเห็นกาหนุ่มรำพันอย่างเศร้าโศก ต่างก็เข้ามาไถ่ถามด้วยความเป็นห่วงเป็นใย

"น้า ...น้า... น้าร้องไห้ทำไมหรือ! " กาตัวหนึ่งถาม

"ฮือ ๆๆๆ... " กาหนุ่มยิ่งคร่ำครวญและร้องไห้โฮ กล่าวปนสะอื้นน้ำตานองหน้าว่า

"เมียรักของน้าถูกคลื่นซัดจมลงไป และถูกปลาฮุบเป็นเหยื่อ โดยที่น้าไม่มีโอกาสได้ช่วยเหลือ นางตายไปต่อหน้าต่อตา ฮือ ๆๆๆ..."

"นี่ไอ้หนุ่ม! เอ็งไม่ต้องเสียใจ เดี๋ยวพวกเราจะช่วยกันวิดน้ำมหาสมุทรให้แห้ง เราจะต้องเห็นศพนางบ้างละวะ" ลุงกาแสดงความฉลาดออกมาด้วยความเห็นใจกาหนุ่ม

"ใช่... พวกเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ มันต้องสำเร็จแน่นอน บรรดาสมาชิกกา ต่างกล่าวสนับสนุนความคิดของลุงกา"

ดังนั้น กาทุกตัวจึงช่วยกันเอาจงอยปากอมน้ำในมหาสมุทรไปทิ้งบนฝั่ง เที่ยวแล้ว เทียวเล่า จนกาทุกตัวปากแห้งผาก คางล้า ตาแดง แต่น้ำในมหาสมุทรก็ไม่มีท่านว่าจะลดลง ฝูงกาจึงเริ่มท้อใจ

"พวกเราจะทำอย่างไรกันดี" ลุงกาเจ้าของความคิดวิดน้ำจากมหาสมุทรกล่าวอย่างอ่อนใจ

"โอ้! เมียรัก พี่ไม่อาจช่วยเธอได้ พี่แสนเสียดายเธอเหลือเกิน พี่จะทำอย่างไรดี" กาหนุ่มเมียตายรำพัน



ฝูงกาต่างรู้สึกสงสารและเห็นใจเจ้ากาหนุ่มจึงพากันเตือนสติ ให้กำลังใจ ในขณะนั้นเทวดาตนหนึ่ง ได้แสดงตัวด้วยเพศที่น่ากลัว แล้วกล่าวว่า

"ไอ้กาทั้งหลาย พวกเจ้าจะเสียใจไปทำไม นี่เป็นเรื่องธรรมดา ทุกชีวิตต้องตาย การเศร้าโศกเสียใจ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาได้หรอก จงหมั่นทำความดีไว้ ตายไปคนจะได้สรรเสริญ และได้เป็นเสบียงเดินทางไปในสัมปรายภพ (ภพหน้า)"



ฝูงกาได้ยินเช่นนั้น ต่างตกใจ แตกตื่นบินหนีอย่างชุลมุนวุ่นวาย มาชาติสุดท้ายกาทั้งหลายได้มาเกิดเป็นภิกษุแก่ ที่รำพันถึงเมียเก่าของเพื่อนที่ตายไป ส่้วนเทวดาได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เหลือวิสัย โดยไม่คำนึงถึง "ศักยภาพ" ของตนแม้ทำไปจะเหนื่อยเปล่า ถึงจะใช้ความพยายามสักปานใดก็ตาม


พญานาคกับพญาครุฑ



ในโลกนี้ไม่มีมิตรศัตรูถาวร คนเราถ้ารู้จักปรับทัศนคติเข้าหากัน ร่วมกันเดินทางสายกลาง ย่อมจะก้าวเดินร่วมกันได้อย่างมีความสุข นิทานเรื่องนี้มาใน "อุรคชาดก ทุกนิบาต"

เมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ ณ.กรุงพาราณสี อาณาประชาราษฎร์ต่างชื่นชมในพระบารมียิ่งนัก เพราะพระองค์ทรงปกครองด้วยทศพิษราชธรรม คราวหนึ่ง พระองค์รับสั่งให้จัดงานมหรสพอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่ิอนใจ หาความสุขสำราญ ผู้คนต่างหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ แม้กระทั่งพญานาคกับพญาครุฑก็ยังจำแลงแปลงกายเป็นคน เดินปะบนเทียวชมมหรสพกับฝูงชน



ทุกคนที่มาเที่ยวต่างก็มีความสุข สนุกสนานเฮอา หัวเราะ ปรบมืออย่างครึ้นเครง ในครั้งนั้น พญาครุฑยืนดูมหรสพอยุ่เบื้องหน้า พญานาคยืนอยู่เบื้องหลัง โดยทั้งคู่มิได้เอะใจแต่อย่างใด ต่างดูมหรสพกันอย่างเพลิดเพลิน

คราวหนึ่งพญานาคถูกอกถูกใจอย่างเต็มที่ในการแสดง จึงเผลอตัวยกมือตบไหล่พญาครุฑพลางหัวเราะอย่างถูกอกถูกใจ ทำให้พญาครุฑขุ้นใจและหันขวับมามองทันที

"เฮ้ย! นายถือดียังไงมาตบไหล่ข้า หาเรื่องหรือไง" พญาครุฑเอาเรื่อง
"เฮ้ย! ขอโทษที เพลินไปหน่อย ..." พญานาคพูดได้เท่านั้น ก็ต้องหลบหน้าทันที
"เฮ้ย! พญานาคนี่หว่า ข้ากำลังอยากพบตัวอยู่พอดี" พญาครุฑกล่าวอย่างโมโห

ผ่ายพญานาคตกใจกลัว มิได้ตอบโต้แต่ประการใด รีบหนีไปอย่างรวดเร็ว พญาครุฑก็ติดตามไปทันที ด้วยหมายจะชำระแค้นให้สิ้นซาก

พญานาคก็พยายามหนีจนสุดฤทธิ์ แต่พญาครุฑก็ตามไม่ห่าง ขณะนั้น มีฤาษีตนหนึ่งเปลื้องผ้าเปลือกไม้อยู่ที่ริมลำธารแล้วลงอาบน้ำอยู่ในลำธาร พญานาคเห็นไม่มีที่พึงอื่นจึงจำแลงกายเป็นลูกแก้วเข้าไปหลบในผ้้าเปลือกไม้ของฤาษี ด้วยคิดว่า

"ท่าจะหนีไม่พ้นแล้วเรา ต้องอาศัยฤาษีช่วย ไม่งั้นตายแน่ ๆ "

ฝ่ายพญาครุฑที่ตามมาติด ๆ แม้รู้อยู่ว่าพญานาคแปลงเป็นลูกแก้ว หลบซ่อนอยู่ที่ผ้าเปลือกไม้ ด้วยความเคารพในฤาษีจึงมิอาจเลิกผ้าเปลืิอกไม้ออก ได้แต่รอคอยด้วยหวังว่า

"เดี่ยวเถาะ ... ท่านดาบสหยิบผ้านุ่งห่มเรียบร้อยเมื่อไร เสร็จข้าแน่ ไอ้พญานาค"

ดาบสรู้วาระจิตของพญาครุฑ จึงกล่าวเตือนว่า

"คนที่ยำเกรงต่อผู้มีคุณวุฒิภาวะสูงกว่า แม้กระหายใคร่จะสังหารพญานาค แต่ก็ไม่ทำเพราะพญานาคได้หลบอยู่ในผ้าเปลือกไม้ของผู้มี่มีวุฒิภาวะสูงกว่าผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ จะเป็นผู้มีอายุยืนยาว ขออาหารทิพย์จงเกิดมีต่อผู้นั้น จงอย่าทำปาณาติบาต (ฆ่ากัน) เลย "



พอกล่าวจบดาบสก็ขึ้นจากน้ำนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ แล้วนำพญานาคกับพญาครุฑไปสู่อาศรม กล่าวพรรณนาอานิสงส์ของเมตา และพร่ำสอนไม่ให้เบียดเบียนกัน

ในที่สุดพญานาคกับพญาครุฑ ก็กลายเป็นมิตรกัน มิได้มุ่งร้ายต่อกันอีกเลย มาชาติสุดท้ายดาบสได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ทุกคนรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งสิ้น จงนำเอาเมตตาธรรมเข้ามาใช้ให้มาก อย่าปล่อยให้จิตใจเป็นคนป่าอีกต่อไปเลย ความสุขความสงบย่อมเกิดจาก "เมตตา" ดังพุทธสถภาษิตที่ว่า "โลโดปัตถัมภิกา เมตตา" เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นิทานเรื่อง "เหี้ยกับกิ่งก่า"

การคบหากับคนนิสัยเสีย เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ย่อมนำความพินาศมาให้อย่างมากมาย นิทานเรื่องนี้มามาใน "โคธชาดก เอกนิบาต"
















ณ ป่าแห่งหนึ่งพญาเหี้ยพร้อมบริวารได้อาศัยอยู่ในโพรงต้นไม้แห่งหนึ่งและพญาเหี้ยมีลูกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รักดุจดั่งดวงใจ มีนามว่า "โคธมิลลิก" เมื่อเติบโตขึ้นสามารถเลื้อยคลานไปมาได้ ก็ออกตระเวณรอบ ๆ ที่อยู่ และตระเวณออกไปไกลที่อยู่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบกับฝูงกิ้งก่า จึงได้สร้างมิตรไมตรี เป็นเพื่อนกับลูกกิ้งก่าตัวหนึ่งโดยที่พญาเหี้ยไม่รู้
















ต่อมา วันหนึ่งพญาเหี้ยรู้เรื่องเข้า จึงไม่สบอารมณ์อย่างมากได้เรียกลูกรักเข้ามาอบรมเป็นการใหญ่

"โคธมิลลิก ลูกพ่อ! เหี้ยมีตระกูลสูงกว่ากิ้งก่ายิ่งนัก พ่อได้ทราบมาว่าลูกไปคบหากับกิ้งก่าใช่ไหม ! "
"ใช่พ่อ" โคธมิลลิก ตอบแล้วย้อนถามว่า
"ทำไมละพ่อ! กิ้งก่าเป็นสัตว์เหมือนกับเรา คบหากันไว้ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรหรอกน่า !"
"เสียหายสิ! ทำไมจะไม่เสียหาย และเสียหายมากด้วย" พญาเหี้ยกล่าวด้วยความขัดเคืองใจ
"พ่อ! ลูกไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลย เราก็คบกันธรรมดาฉันมิตร" โคธมิลลิกโต้แย้ง
"กิ้งก่าสกุลต่ำกว่าเรา ยิ่งเราไปคบก็ยิ่งทำให้เราเสื่อมศักดิ์ศรี จะนำความเดือดร้อนมาสู่วงศ์ตระกูล" พญาเหี้ยพยายามโน้มน้าวจิตใจโคธมิลลิก
"เป็นไปไม่ได้เลยพ่อ เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด กิ้งก่าที่ลูกคบหามีนิสัยดี ทั้งนั้นเลย" โคธมิลลิก โต้แย้งไม่ยอมฟังเหตุผลของพญาเหี้ย
"เอ้อดี ... พ่อเตือนแล้วไม่ฟัง เมื่อภัยมาถึงเจ้าจะน้ำตาตกใน" พญาเหื้ยโกรธลูกตัวเองที่หัวดื้อไม่ยอมฟังคำตักเตือน

ผ่ายโคธมิลลิกก็ยังคงเที่ยวแวะเวียนไปคบหาสมาคมกับกิ้งก่าอยู่เสมอด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลินโดยมิใส่ใจคำตักเตือนของพญาเหี้ยผู้เป็นพ่อ

พญาเหื้ยเห็นว่าลูกไม่ยอมเชื่อฟัง ก็คิดว่าสักวันต้องมีภัยตามมาแน่นอน จึงได้บอกบริวารให้ช่วยกันสร้างเกราะป้องกันภัย โดยเกณฑ์แรงงานให้ช่วยกันขุดปล่องสำหรับหลบภัย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้พากันหนีลงปล่องเอาตัวรอด

กาลเวลาหมุนเปลี่ยนเวียนไป โคธมิลลิกเติบโตขึ้นตามลำดับ มีร่างกายใหญ่โต ผิดกับกิ้งก่าที่มีร่างกายเล็ก จนมิอาจเทียบกันได้เลย แต่โคธมิลลิกก็ยังคบหากับกิ้งก่าอยู่เช่นเดิม มีการกอดรัด หยอกล้อกันตามปกติ ครั้งหนึ่งกิ้งก่าถูกโคธมิลลิกโอบกอดรัดในขณะที่เล่นหยอกล้อกัน ทำให้เกิดความเจ็บปวด แทบจะทนไม่ไหว จะร้องห้ามก็เกรงใจเพราะเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ กิ้งก่าจึงคิดหาวิธีการกำจัดเหื้ย

เมื่อถึงต้นฝนปลายร้อน สายฝนกระหน่ำลงมาทั่วปฐพี น้ำเจิ่งนองไปทั่ว ฝูงเมลงเม่าก็ออกมาจากจอมปลวกบินว่อนด้วยความดีใจ ฝ่ายเหื้ยเมื่อเห็นเช่นนั้น ก็รีบออกมาจากโปรงไม้มากินแมลงเม่าอย่างเพลิดเพลินใจ กิ่งก่าอันตรายเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะกำจัดเหื้ย จึงเทียวเสาะแสวงหานายพรานเหมือนสวรรค์เป็นใจ กิ้งกาได้พบกับนายพรานพร้อมสุนัขล่าเนื้อ จึงถามว่า

"ท่านจะไปไหนหรือ นายพราน!"
"เราจะไปจับเหื้ย " นายพรานตอบ
"โอ้ นี่ถ้าท่านต้องการให้ช้าช่วย ข้าก็ยินดี เพราะข้ารู้ที่อยู่ของเหื้ย" กิ้งก่าได้โอกาสอย่างเจ้าเล่ห์
"เอ้อดี ... งั้นเจ้าพาเราไปสิ" นายพรานอุทานอย่างลิงโลดใจ
















กิ้งก่าได้นำนายพรานมาจนถึงจอมปลวกที่ฝูงเหื้ยกำลังเพลิดเพลินกับการกินแมลงเม่า ทันทีที่นายพรานมาถึงก็โรยฟางจนทั่ว แล้วจุดไฟเผา ฝูงเหื้ยต่างก็หนีกันอย่างอลหม่าน นายพรานก็ดักทุบตีเหื้ยตัวที่วิ่งหนีไปทีละตัว ทีละตัว ส่วนตัวที่พ้นเงื้อมือของนายพราน ก็ถูกสุนขล่าเนื้อกัดตาย

พญาเหื้ย เห็นเหตุการเช่นนี้ ก็เข้าใจทันทีว่าอันตรายที่เกิดขึ้นนี้มาจากลูกตัวเองที่คบหาสมาคมกับกิ้งก่าอันธพาล พลางกล่าวคำสุภาษิตไว้ว่า

"การคบกับคนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้ คนพาลย่อมทำลายวงศ์ตระกูลของตนให้พินาศ"

ต่อมาชาติสุดท้าย ลูกพญาเหื้ยได้เกิดเป็นภิกษุรูปหนึ่งที่คบหาพระเทวทัต กิ้งก่าได้เกิดเป็นพระเทวทัต ส่วนพญาเหื้ยได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การคบหาคนพาลสันดาลชั่วนั้น นอกจากตัวเองจะเดือดร้อนแล้ว บางทีอาจนำความฉิบหายมาสู่วงศ์ตระกูลด้วย อนึ่งลูกที่ดื้อรั้น ไม่ยอมฟังคำตักเตือน ไม่ยอมฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ย่อมจะพบกับความวิบัติ ดังเช่น โคธมิลลิก ดังสุภาษิตที่โบราณท่านกล่าวไว้ว่า คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล